Reef Ambassador Program

D I A R Y O F 2 0 1 8

.
WRITTEN BY:

Maythira (May) Kasemsant

A nature enthusiast who was selected as a first grantee in Reef Ambassador Program for 3-month internship at New Heaven Reef Conservation Program, Koh Tao, Thailand. This blog is for sharing knowledge and experience I got from the program.

.

New Heaven : ที่ที่ความหวังผลิบาน

เมื่อพูดถึงโลกใต้น้ำ หลายคนคงนึกถึงคำว่า ‘สวรรค์ใต้ทะเล’  
แต่หลายครั้งที่เราได้ฟังคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนๆ ถึงความสวยงามราวสรวงสวรรค์ในแนวปะการัง บ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเขาเหล่านั้นปิดท้ายประโยคด้วยคำพูดที่ว่า เมื่อเขากลับไปที่นั่นอีกครั้ง ภาพเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว…
น่าเสียดายจังที่เราเกิดมาช้าไป…
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็ยังโชคดีกว่าคนรุ่นหน้ามากนัก ที่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นแม้แต่ ‘ปะการัง’ (นักวิทยาศาสตร์ประมาณการไว้ว่า ถ้าเรายังไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลง อีก 30 ปีข้างหน้า เราอาจไม่เหลือปะการังแล้ว)
ในฐานะคนที่ติดตามข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม หลายต่อหลายครั้ง ที่เรารู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง กับการต้องเห็นโลกธรรมชาติที่เรารัก ค่อยๆ สูญสลายและถูกมนุษย์ทำลายไปต่อหน้าต่อตา – ปัญหาที่โลกสีครามกำลังเผชิญ มันช่างดูยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์ตัวจ้อยอย่างเราจะทำอะไรได้ – ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปะการังฟอกขาว ทะเลเป็นกรดเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวเหยียบปะการัง โรงงานปล่อยน้ำเสียลงทะเล และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ท่ามกลางความหดหู่ เรารู้ว่ายังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่จะเติมความหวังให้หัวใจอีกครั้ง
และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่เราอยากกลับมาที่นี่…
New Heaven Reef Conservation Program ณ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี  
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เรามาเป็นนักเรียนของ New Heaven ในคอร์สดำน้ำเชิงอนุรักษ์
ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่อยู่ที่นี่ สิ่งที่เราได้ไม่เพียงแค่ความรู้ในเรื่องระบบนิเวศใต้ทะเลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความรู้สึกมีพลัง จากการได้เจอกับกลุ่มคนเล็กๆ จากทั่วทุกมุมโลก ที่มาทำงานร่วมกันเพื่อรักษาระบบนิเวศแนวปะการัง –สวรรค์เล็กๆ ใต้ผืนน้ำ ให้คงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำ
ผลผลิตแห่งความทุ่มเทตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีของพวกเขา ปรากฏให้เห็นชัดใต้ผืนทะเล
วันนี้ เราโชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้กลับมาที่นี่อีกครั้งในฐานะเด็กฝึกงาน ในโครงการ Reef Ambassador Program at NHRCP ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิรักษ์สัตว์ป่า
ก่อนที่เราจะเล่าว่า เราได้เรียนและทำอะไรในแต่ละสัปดาห์ ตอนนี้จะขอเล่าถึงที่มาที่ไปของโปรแกรมอนุรักษ์แห่งนี้ – ที่ที่เราขอนิยามว่าเป็น ‘โอเอซิสแห่งความหวัง’

[1] หนุ่มอเมริกันกับความฝันในโลกสีคราม

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หนุ่มอเมริกันนาม Chad Scott มาเมืองไทยเป็นครั้งแรกในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ที่ชื่อ CPAD (Coastal Preservation and Development Foundation) ในครั้งนั้น หนุ่มแชดได้รู้จักกับโลกใต้ทะเลเป็นครั้งแรก หลังการดำน้ำไดฟ์แรกจบสิ้นลง เขาถึงกับเขียนอีเมลยาว 10 หน้า พรั่งพรูความรู้สึกประทับใจในโลกใต้น้ำและความมหัศจรรย์ของชีวิตต่างๆ ที่เขาเห็น ส่งถึงแม่ที่อเมริกา
แต่ทว่า… สิ่งที่เขาเห็นตลอดช่วงเวลาการฝึกงานนั้นไม่ได้มีแต่ด้านสวยงาม  ณ อ่าวแห่งหนึ่งชื่ออ่าวฉลาม เขาเห็นพื้นทะเลกว้างใหญ่เต็มไปด้วยซากปะการังตาย อันเป็นผลมาจากการฟอกขาว
ในฐานะนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การได้เห็นภาพเช่นนี้ คือการได้เห็นสิ่งที่เรียนมาปรากฏเป็นจริงตรงหน้า เขารู้ดีว่าปะการังที่ดูแข็งแรงนั้น ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่สุดแสนจะเปราะบางและเสี่ยงต่อการสูญสลายเพียงใด และเขาก็เห็นว่า ปะการังในประเทศไทยกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว
และนั่นคือจุดที่ทำให้หนุ่มแชดตัดสินใจว่า เขาจะต้องทำอะไรบางอย่าง…
อะไรบางอย่างที่เขาว่า คือการตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองไทย และอุทิศชีวิตที่เหลือให้การดูแลแนวปะการัง
“โดยส่วนตัวแล้ว ผมคงไม่สามารถมีความสุขได้ ถ้าเราเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่ไม่ทำอะไรสักอย่างในชีวิตเพื่อบรรเทาหรือแก้ไขมัน ซึ่งผมมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากทำให้งานอนุรักษ์กลายเป็นอาชีพของผม เพื่อช่วยแก้ปัญหาและปกป้องชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้”
(“I personally could never be happy with myself if I knew about these problems and did nothing in my lifetime to alleviate or address them. I can think of no more noble thing to do than to make a career out of helping to solve these issues and protecting the life on our planet.”)

[2] กำเนิด New Heaven Reef Conservation Program

ในปี 2007 องค์กร CPAD ที่แชดทำงานอยู่ ประสบปัญหาด้านเงินทุนและจำต้องหยุดดำเนินการ แต่หนุ่มแชดไม่ยอมให้ความฝันหยุดตามไป เขาและโรงเรียนสอนดำน้ำ New Heaven Dive School ซึ่งทำงานด้านอนุรักษ์ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น ร่วมกันก่อร่างสร้างฝันขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อว่า New Heaven Reef Conservation Program
โปรแกรมยุคแรก เป็นคอร์สสั้นๆ แค่ 3 วัน โดยสอนพื้นฐานระบบนิเวศปะการัง การดำน้ำติดตามความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (Ecological Monitoring Program) การฟื้นฟูปะการังด้วยโครงสร้างปะการังเทียม และการเก็บขยะใต้ทะเล
วันเวลาผ่านไป โปรแกรมนี้ค่อยๆ เติบโต จากคอร์ส 3 วัน ก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 วัน, 3 วัน, 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งเป็นเดือนก็ได้ รวมถึงโปรแกรมฝึกงาน มีเลคเชอร์ให้ผู้เข้าร่วมหลายสิบหัวข้อ มีการเก็บข้อมูลวิจัย และโปรเจกต์อนุรักษ์มากมาย
ทุกๆ วัน ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนภาคทฤษฎีในช่วงเช้าที่ทีมงานหมุนเวียนกันสอน ช่วงบ่ายเป็นการดำน้ำเพื่อทำโปรเจกต์อนุรักษ์ต่างๆ เช่น การสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตแนวปะการัง การเก็บหอย Drupella ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของปะการัง หรือการเก็บชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักมาผูกกับปะการังเทียม
“สิ่งสำคัญที่ผมได้รับในการทำงานนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การสามารถหลับตานอนในทุกๆ คืนด้วยความรู้สึกเป็นสุขต่อสิ่งที่ได้ทำมาตลอดวันเท่านั้น แต่ยังคือการได้ทำงานกับคนเจ๋งๆ ที่มีความฝันเพื่อโลกใบนี้ร่วมกัน
“มันยากนะ ที่จะเจอคนที่คุณไม่ชอบในสายงานนี้  ซึ่งเป็นเรื่องที่พิเศษมาก เมื่อนึกถึงงานอื่นๆ ที่ผมเคยทำ การที่เรามีโอกาสได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าในทุกๆ วัน กับเพื่อนร่วมงานดีๆ คือความสุขที่สุดแล้ว”
(“ The major bonus to all this is not only that I can go to sleep each night feeling good about what I have done during the day, but also the fact that I get to spend my time with other wonderful, altruistic people. It is quite rare that you find people you don’t like in this profession, which is quite exceptional when I think about the other jobs I have had. To be able to do good things every day, with good people is really a blessing.” )
จริงอยู่ แม้สิ่งที่เขาทำจะเป็นแค่พื้นที่เล็กๆ บนเกาะเล็กๆ ในขณะที่ปัญหาที่มหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้นดูยิ่งใหญ่หนักหนา ซึ่งก็อาจเป็นธรรมดาที่จะทำให้ท้อใจ แต่แชดบอกว่า เขามองไม่เห็นทางเลือกอื่น
“ถึงแม้ว่าพวกเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มากนักหรืออาจเปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ผมว่ามันก็ดีกว่าการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือการเริ่มต้นของเราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ซึ่งในที่สุดสิ่งนี้ก็จะสร้างแรงกระเพื่อมและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่น่ามหัศจรรย์ได้”
(“Even if what we do barely makes a difference or makes no difference at all, it is better than being a part of the problem.  And more importantly, our acts inspire and encourage others, and eventually that momentum can build and lead to amazing change.”)
ประโยคสุดท้ายที่เขาพูด เป็นจริงอย่างที่สุด

[3] การงอกงามของความฝัน

มาถึงวันนี้ ก็ 10 ปีแล้ว นับจากโปรแกรมนี้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรก
ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้เกิดขึ้น เช่น การทำทุ่นผูกเรือตามจุดดำน้ำต่างๆ บนเกาะ ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกับ อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทดแทนการทอดสมอ ซึ่งทำให้ปะการังเสียหายปีละมหาศาล นอกจากนั้น แนวปะการังเทียมที่พวกเขาทำไว้ วันนี้ก็กลายเป็นสวรรค์เล็กๆ แห่งใหม่ของสัตว์ทะเล
แต่สิ่งที่มากกว่านั้น ก็คือสารของการอนุรักษ์ที่ถูกส่งต่อออกไป นักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้ความรู้กลับไป หลายคนก็กลับมาเป็นทีมงานหรืออาสาสมัคร บางคนก็นำความรู้ไปเริ่มต้นโปรเจกต์อนุรักษ์ในพื้นที่อื่นๆ ราวกับแรงกระเพื่อมของวงน้ำที่ค่อยๆ กระจายไป
แม้วันนี้ แชดจะไม่ได้อยู่ที่เกาะเต่า เนื่องจากต้องพักรักษาตัวจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่ทีมงานที่นี่ก็ได้สานต่อเจตนารมย์ของเขา ด้วยความฝันและหัวใจแบบเดียวกัน
           บางที New Heaven อาจกำลังบอกกับเราว่า คำว่าสรวงสวรรค์ไม่จำเป็นต้องมาจากการสรรสร้างของพระเจ้า หากแต่มาจากคนเล็กๆ ธรรมดาที่มีความฝันและลงมือทำ
แม้ว่าปัญหาจะดูยิ่งใหญ่ แต่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ที่เราทำได้
และเมื่อจุดนั้นขยายตัวไป และรวมกันหลายๆ แห่ง ความเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มส่งผล
และรางวัลของการทำเช่นนี้ ก็คือความอิ่มเอมในหัวใจและการค้นพบความหมายของชีวิต
“ผมรู้สึกว่า ผมคงได้ใช้ชีวิตนี้อย่างดีและคุ้มค่าที่สุดแล้ว ถ้าผมได้ใช้มันในการดูแลโลกของเรา”
(“I feel that I will have lived my life well to have lived it in the service of our planet.”)

Mission 01 : ภารกิจช่วยชีวิตปะการัง

ภารกิจวันนี้คือ เราจะไปช่วยชีวิตปะการังกัน โดยการดำน้ำเก็บชิ้นส่วนปะการังที่แตกหัก มาผูกกับโครงสร้างปะการังเทียม เพื่อให้ชิ้นส่วนปะการังเหล่านั้นมีโอกาสรอดและเติบโต แทนที่จะจมทรายหายไป
ว่าแต่… ก่อนที่ภารกิจจะเริ่มต้น เราก็ต้องรู้ก่อนว่า สิ่งที่เราทำ เราจะทำมันไปทำไม?
ดังนั้น ภาคเช้าเราเริ่มด้วยการฟังเลคเชอร์เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจว่า… ทำไมเราต้องแคร์ปะการัง ?

[1] ปะการัง... สิ่งมีชีวิตน้อยๆ หน้าที่ยิ่งใหญ่

ไม่ไกลจากชายฝั่ง ยังมีดินแดนแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้เกลียวคลื่น ดินแดนแห่งนั้นคือเมืองหลากสีสัน ชีวิตมากมายหลายไลฟ์สไตล์อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข… เอ่อ… จริงๆ ก็ไม่สงบเท่าไหร่ มีว่ายน้ำไล่กินกันเป็นประจำแหละ แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องปกติของเมืองแห่งนี้ และนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้ความสมดุลแห่งชีวิตเมืองปะการังคงอยู่ได้
ตึกรามบ้านช่องของเมืองนี้ ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูน กุ้งหอยปูปลาน้อยใหญ่อาศัยเป็นแหล่งหลับนอน แหล่งหลบภัย บ้างก็ใช้เป็นห้องคลอดวางไข่ ไปจนถึงโรงเรียนอนุบาล บ้างก็ใช้เป็นห้องครัวหาอาหาร หากินอิ่มท้องสบายใจ
“ถ้าไม่มีปะการัง ผมจะไปหลบพี่ปลาเก๋า พี่หมึกยักษ์ และผู้ล่าอีกมากมายตรงไหน ผมคงถูกกินขึ้นสวรรค์ไปนานแล้ว”  ถ้าปลาน้อยพูดได้ มันคงกล่าวไว้เช่นนี้
ใช่แล้ว… ตึกรามบ้านช่องที่พูดถึงนี้ ก็คือ ‘ปะการัง’
แม้แนวปะการังจะกินพื้นที่เพียงแค่ไม่ถึง 0.1% ของพื้นมหาสมุทรทั้งหมด แต่ 1 ใน 4 ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่เรารู้จักอาศัยที่นี่เป็นบ้าน แนวปะการังจึงนับเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายสูงสุดๆ ราวกับป่าอเมซอนใต้ทะเล
ดังนั้น ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเล จึงขึ้นกับความสมบูรณ์ของแนวปะการัง
แต่ปะการัง… ไม่ใช่แค่โครงสร้างหินปูน แต่มันมีชีวิต!
ปะการังเป็นสัตว์!
และมันเป็นสัตว์ที่มีชีวิตมหัศจรรย์
ในปะการังหนึ่งก้อนที่เราเห็น จริงๆ แล้วประกอบด้วยตัวปะการังน้อยๆ หลายร้อยตัวอาศัยอยู่รวมกัน เรียกว่า ‘โคโลนี’  โดยปะการังแต่ละตัวในโคโลนีมี DNA เหมือนกันเป๊ะ (ลองนึกถึงว่า เรามีแฝดเหมือนร้อยกว่าคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน)  แถมพวกมันทั้งหมดมีเนื้อเยื่อเชื่อมถึงกัน เพื่อแบ่งปันสารอาหารและสื่อสารถึงกัน
การกินอาหารของปะการังก็น่าสนใจ พวกมันต่างจากสัตว์อื่นตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยหากินเองมากนัก เพราะมันมี ‘แม่ครัวส่วนตัว’ อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของมัน
แม่ครัวนางนี้ชื่อ Zooxanthellae (ต่อจากนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘ป้าซู’) ป้าซูคือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่อาศัยในเนื้อเยื่อปะการัง ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง และป้อนพลังงานให้ปะการัง โดยพลังงานราว 80-95% ที่ปะการังใช้ก็ได้มาจากป้าซูนี่แหละ ในขณะที่ส่วนที่เหลือได้มาจากการยื่นหนวดกรองแพลงก์ตอนกินยามค่ำคืน (สีของปะการังที่เราเห็น ก็คือสีของป้าซู)
            แต่ความสามารถที่เจ๋งที่สุดของปะการัง ต้องยกให้กับการที่มันสามารถดึงเอาสารต่างๆ ที่ล่องลอยในน้ำ มาสร้างเป็นบ้านหินปูนให้ตัวเองอยู่อาศัยได้ โดยไม่ต้องไประเบิดภูเขาสักลูก (ซึ่งความสามารถตรงนี้ ก็มีนักวิทยาศาสตร์พยายามจะเลียนแบบเพื่อผลิตเป็นคอนกรีตรักษ์โลก โดยใช้ปะการังเป็นแรงบันดาลใจ1)
กลับมาที่ความสำคัญของปะการัง… แนวปะการังใต้ทะเล ไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่ของปลาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงถึงชีวิตมนุษย์โดยตรงด้วย
แนวปะการังช่วยปกป้องชายฝั่งจากการถูกกัดเซาะ มีงานวิจัยบอกว่า แนวปะการังช่วยลดพลังงานของคลื่นที่จะมากระทบชายฝั่งได้ถึง 97% ปะการังยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน การที่เรามีอาหารทะเลกิน เราต้องขอบคุณปะการัง นอกจากนั้น ชีวิตอันหลากหลายในแนวปะการังยังเปรียบได้กับห้องแล็บเคมีขนาดมหึมา ซ่อนความเป็นไปได้มากมายในการค้นพบตัวยาใหม่ๆ ที่อาจช่วยชีวิตคนนับล้านในอนาคต
นี่ยังไม่ได้พูดถึงการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี 3 (นับเฉพาะแค่ในเมืองไทย) สร้างอาชีพให้คนมหาศาล เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ
แต่วันนี้ ปะการังทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต  
            นักวิทยาศาสตร์ประมาณการกันว่า ถ้าเราไม่ทำอะไร ปะการังทั่วโลกอาจหายไปภายในปี 2050

[2] ปะการัง... กำลังหายไป

ปะการังเป็นสัตว์ที่มีความเยอะ!
เยอะในที่นี้ หมายถึง เงื่อนไขในการดำรงชีวิตเยอะ
แต่ทุกวันนี้ การพัฒนาของมนุษย์กำลังปรับเปลี่ยนสภาพผืนทะเล ให้ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความต้องการของปะการังทั้งหมด !
  1. ภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น จนทำให้ป้าซูเครียดและผลิตสารที่เป็นพิษออกมา จนปะการังต้องจำใจขับป้าซูออกจากเนื้อเยื่อ ผลก็คือปะการังฟอกขาว ซึ่งถ้าปะการังอยู่ในสภาวะเช่นนี้นานเกินไป ก็จะลงเอยด้วยการตาย
  2. การตัดไม้ทำลายป่า การพัฒนาชายฝั่ง ทำให้ตะกอนไหลลงทะเลมากขึ้น ซึ่งตะกอนจะปิดกั้นแสง เมื่อป้าซูสังเคราะห์แสงไม่ได้ ปะการังก็ตาย
  3. ภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดพายุบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนตกหนัก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พัดพาตะกอนลงมา อย่างเช่นที่เกาะเต่า มีอยู่ปีหนึ่งที่น้ำท่วมหนัก พื้นที่หน้าอ่าวกลายเป็นทะเลสีชานมเย็น ปะการังถูกถมในตะกอนหนาเป็นเมตร
  4. น้ำเสียจากฝั่ง ทำให้ระดับแร่ธาตุในน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ทำให้ปะการังเสี่ยงต่อการถูกยึดครองอาณาจักรโดยเหล่าสาหร่ายซึ่งโตเร็วกว่ามาก
  5. ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่สูงขึ้น ทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ปะการังประสบความยากลำบากในการสร้างโครงสร้างหินปูน โครงสร้างที่สร้างได้ก็บอบบางลง เสี่ยงต่อการแตกหักเมื่อพายุมา
  6. ขยะพลาสติกในทะเลทำให้ปะการังป่วย งานวิจัยบอกว่า ปะการังที่สัมผัสกับพลาสติกมีโอกาสเป็นโรคเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 89%5 แถมอนุภาคพลาสติกเล็กๆ ระดับไมโคร ก็ปะปนไปกับแพลงก์ตอนที่ปะการังกิน ทำให้ปะการังมีพลาสติกในท้องด้วย
  7. สารเคมีในครีมกันแดดที่นักท่องเที่ยวใช้ ยังเป็นตัวทำร้ายปะการัง ทำให้ตัวอ่อนเติบโตผิดรูป เสี่ยงต่อการฟอกขาวเพิ่มขึ้น
ปะการังที่ต้องเจอสภาพเช่นนี้  ก็ไม่ต่างจากการจับคนคนหนึ่งไปอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ ต้องกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษทุกวัน อดมื้อกินมื้อ อุณหภูมิก็ร้อนๆ หนาวๆ ไม่สบายเนื้อสบายตัว คนที่อยู่ในสภาวะเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสป่วยมากกว่าคนทั่วไป ปะการังก็เช่นกัน… เมื่อปะการังอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต มันก็จะอ่อนแอ อัตราการเป็นโรคก็เพิ่มขึ้น (ปะการังก็ป่วยเป็นนะ)
เมื่อปะการังหาย สิ่งอื่นๆ ก็จะพังตามกันไปเหมือนโดมิโนล้ม
เริ่มจากสัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัยและลดจำนวนลง การประมงประสบปัญหา คนนับพันล้านที่พึ่งพาอาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนหลักได้รับผลกระทบ ตามมาด้วยการท่องเที่ยวพังทลาย ชายฝั่งถูกกัดเซาะ คนนับล้านต้องสูญเสียอาชีพ
จะเห็นว่า ปะการังไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในทะเล แต่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตมนุษย์โดยตรง

[3] ภารกิจกู้ชีวิตปะการัง

ปะการังเป็นสัตว์ที่โตช้าถึงช้ามาก บางชนิดเติบโตได้แค่ไม่กี่เซนติเมตรในหนึ่งปี
โดยปกติ ปะการังสืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ (คือการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ) แต่ในค่ำคืนแห่งความพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในรอบปี เมื่อสภาวะต่างๆ อยู่ในจุดที่เหมาะสม ปะการังทั่วทั้งแนวจะพร้อมใจกันปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาในค่ำคืนเดียวกัน ถุงไข่และถุงสเปิร์มเหล่านี้จะล่องลอยไปพบกันที่ผิวน้ำและปฏิสนธิกันที่นั่น กลายเป็นตัวอ่อนปะการังล่องลอยเป็นแพลงก์ตอนไปตามกระแสน้ำ ส่วนใหญ่ก็จะถูกสัตว์อื่นกินไป ส่วนน้อยที่รอดชีวิตเมื่อโตได้ที่ ก็จะลงหาที่ยึดเกาะและเติบโต
จะเห็นว่า ถ้ารอให้พวกมันเติบโตตามกระบวนการธรรมชาติ ต้องใช้เวลาอันแสนยาวนานกว่าจะได้ปะการังเล็กๆ สักหนึ่งก้อน ในขณะที่อัตราการสูญเสียนั้นรวดเร็วกว่ามาก ดังนั้น เราจึงปล่อยปะการังไปตามยถากรรมไม่ได้
โครงสร้างปะการังเทียม จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่ช่วยให้ปะการังฟื้นตัวได้ไวขึ้น
โครงสร้างปะการังเทียมของที่นี่ มีหลากหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่โครงสร้างโลหะรูปโดม ขวดเบียร์หล่อกับคอนกรีต แท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยม ซึ่งโครงสร้างแต่ละแบบ ก็ใช้เทคนิคการจัดการกับชิ้นส่วนปะการังที่ต่างกัน
และตอนนี้ หน่วยกู้ชีวิตปะการังพร้อมแล้ว !
อุปกรณ์พร้อม ถังออกซิเจนพร้อม กระโดดตู้ม! ลงน้ำ
ขั้นตอนแรก คือเราจะสำรวจในพื้นทะเลรอบๆ มองหาเศษซากปะการังที่แตกหัก ซึ่งอาจเป็นเพราะคลื่นหรืออะไรก็แล้วแต่ เก็บรวบรวมใส่ตะกร้า แล้วมุ่งหน้ามาสู่โครงสร้างปะการังเทียมรูปโดม ใช้เชือกเส้นเล็กๆ ผูกชิ้นส่วนปะการังเข้ากับโครงสร้างนั้น
Photo by New Heaven Reef Conservation Program
เศษซากปะการังที่ได้รับความช่วยเหลือนี้ก็เหมือนได้ชีวิตใหม่ มีโอกาสที่จะแตกหน่อเติบโตอีกครั้ง แทนที่จะจมทรายหายไป เพราะปะการังต้องการโครงสร้างที่มั่นคงเพื่อยึดเกาะในการเติบโต
นอกจากนั้น การที่เราผูกมันกับโครงสร้าง ยังช่วยทำให้มันปลอดภัยจากผู้ล่า เช่น ดาวมงกุฎหนาม หรือหอย Drupella ที่คืบคลานตามพื้นดิน โอกาสรอดชีวิตก็สูงขึ้น
และนี่ก็คือผลลัพธ์ ภายในระยะเวลาหลายต่อหลายปีที่ทีมงานที่นี่และเหล่านักเรียนและเด็กฝึกงานช่วยกันทำ
วิธีการทำปะการังเทียมของที่นี่ จะไม่ใช่การนำเอาปะการังที่สมบูรณ์มาหักเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปลูกในท่อเหมือนที่คนส่วนใหญ่นึกภาพ เพราะการทำแบบนั้นมีข้อเสียคือ 1) เราไปทำร้ายปะการังที่สมบูรณ์กอนั้น  2) ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม เพราะถ้าปะการังทุกกอมีพันธุกรรมเหมือนกันเป๊ะ หากเกิดโรคระบาดทีก็จะตายยกหมู่
การเลือกเก็บชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักของพวกเรา จึงต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วย
ประโยชน์ทางอ้อมของการสร้างแนวปะการังเทียม นอกจากการเป็นบ้านใหม่ให้สัตว์ทะเลได้อยู่อาศัยแล้ว ยังกลายเป็นจุดดำน้ำจุดใหม่ ที่ช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่เดียวจนสร้างความกดดันให้ปะการังมากเกินไป
อย่างเช่นแนวปะการังเทียมบางแห่ง ทุกวันนี้ก็กลายเป็นดงปะการังอุดมสมบูรณ์ ชนิดที่ถ้าไม่ก้มไปดูฐานข้างใต้ ก็ดูไม่ออกเลยว่าเป็นโครงสร้างปะการังเทียม
แม้วันนี้ ปัญหาที่แนวปะการังทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญนั้นจะดูหนักหนาและยิ่งใหญ่ ข่าวคราวตามหน้าเว็บไซต์ก็ชวนให้ทดท้อใจ
แต่สิ่งที่ทีมงานทุกคนที่นี่ได้ทำมาตลอดสิบกว่าปี ได้ทำให้เราเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเริ่มต้นด้วยสองมือของเรา เริ่มจากจุดเล็กๆ ผสมกับความมุ่งมั่น ความต่อเนื่อง และความไม่ย่อท้อ
อย่างเช่นในวันนี้ ชิ้นส่วนปะการังที่เราช่วยกันผูกกับโครงสร้าง วันหนึ่งในอนาคตมันก็จะกลายเป็นแนวปะการังแห่งใหม่ – เป็นสวรรค์เล็กๆ ที่สร้างขึ้นมาได้จากความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความฝันที่ทุกคนมีร่วมกัน ในการอยากเห็นอนาคตของท้องทะเลที่สดใสกว่าเดิม

Mission 02 : รู้จักชื่อปะการัง - ความฟินอีกขั้นของการดำน้ำ

ก่อนที่จะมาฝึกงานที่นี่  นิยามความสวยงามของปะการังของเรา จำกัดอยู่แค่ที่สีสัน
เวลาเห็นภาพถ่ายใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยปะการังหลากสี – เขียว ชมพู ส้ม เหลือง ม่วง – เราจะรู้สึกว่า โอ้โห! สวยจัง โคตรอยากไปเลย ในขณะที่พื้นที่ที่มีแต่ปะการังสีโทนน้ำตาลๆ ตุ่นๆ เราจะค่อนข้างรู้สึกเฉยๆ
แต่หลังจากได้มาเข้าคอร์สที่นี่ ได้เรียนเรื่องอนุกรมวิธานของปะการัง เรียนรู้เรื่องรูปทรงการเติบโตของปะการัง (Growth Form) ไปจนถึงการแยกแยะปะการังในระดับสกุล (Genus) ไดฟ์ดำน้ำหลังจากนั้นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
พอกระโดดลงน้ำอีกครั้ง เหมือนว่าเราได้มองเห็นโลกใต้น้ำด้วยสายตาคู่ใหม่ คล้ายกับว่าได้มีแว่นตาพิเศษที่ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้สังเกตในสิ่งที่ไม่เคยสังเกต
แนวปะการังสีตุ่นๆ น้ำตาลๆ ที่เคยรู้สึกว่าก็ปะการังเหมือนๆ กันไปหมด… คราวนี้กลับดูแตกต่าง
โอ้นั่น… Branching – Acropora
ส่วนนี่… Foliose – Pavona
นั่นไง… Massive – Lobophyllia ที่เรียนมา
เอ๊ะ กอนี้ใช่ Submassive – Porites หรือเปล่านะ ?
จริงอยู่… กว่าจะจำชื่อเหล่านี้ได้ก็เล่นเอาปาดเหงื่อ แต่พอจำได้แล้วจะฟินมาก
จะว่าไป… ก็คงคล้ายกับกิจกรรมรับน้องสมัยมหาลัย ที่สิ่งแรกที่รุ่นพี่จะให้ทำก็คือ “การจำชื่อ” – เพราะการจำชื่อคือจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้นิสัย เรียนรู้ความชอบ และรู้จักกันในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นต่อไป จนเกิดเป็นความรักและความผูกพันตามมา
… การเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติวิทยาก็เช่นกัน …
เมื่อเรารู้จักชื่อปะการัง โลกใต้น้ำเพียงแค่ไม่กี่เมตรรอบตัว ช่างเต็มไปด้วยความหลากหลาย ปะการังทุกก้อนดูมีเรื่องราวน่าค้นหา มองซ้ายมองขวา น่าตื่นตาตื่นใจไปหมด
การดำน้ำครั้งนี้จึงมีความหมายกว่าที่เคยเป็นมา เหมือนโลกใต้น้ำเริ่มคุยกับเรา และปะการังเหล่านั้น ไม่ใช่ปะการังแปลกหน้าอีกต่อไป
ดังเช่นที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ (ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ) ว่าไว้…
“ถ้าไม่รู้จัก แล้วจะรักได้ยังไง”
แต่ประโยชน์ของการรู้จักชื่อสกุลปะการัง (Genus) รวมถึงรูปทรงการเติบโต (Growth Form) ไม่ได้มีประโยชน์แค่เพิ่มความฟินให้กับการดำน้ำเท่านั้น แต่ยังคือหัวใจสำคัญในเชิงวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์

1. รูปทรงการเติบโตที่ต่างกัน ให้ประโยชน์ในมุมที่ต่างกัน

เช่น ปะการังกิ่งก้าน (Branching Coral) ข้อดีคือเป็นบ้านแสนปลอดภัยให้เหล่าปลาน้อยๆ ไว้คอยหลบภัยจากผู้ล่า (เพราะปลาใหญ่เข้ามาไม่ได้) แถมยังเป็นปะการังที่โตเร็วเมื่อเทียบกับปะการังรูปทรงอื่นๆ แต่ข้อเสียคือแตกหักง่าย พายุมาทีก็ไปก่อนเพื่อน
ในขณะที่ปะการังก้อน (Massive Coral) จะโตช้ากว่ามาก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยชะลอคลื่น ปกป้องชายฝั่งจากการถูกกัดเซาะ และมีความอึดถึก พายุมาก็ไม่ตายง่ายๆ แถมเป็นบ้านให้พวกหนอนฉัตรหรือหนอนท่อด้วย

2. ความหลากหลายทางพันธุกรรม คือหลักประกันความมั่นคงของระบบนิเวศ

Acropora, Montipora, Lobophyllia, Galaxia, Favia, Favites, Pavona
เหล่านี้คือชื่อสกุลของปะการัง การรู้จักชื่อละตินจำยากๆ พวกนี้ ทำให้เราบอกได้ว่า ในแนวปะการังตรงนี้ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากแค่ไหน ซึ่งความหลากหลายนี้ถือว่าสำคัญมากต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ
ลองนึกถึงว่า ถ้าเรามีปะการังเพียงแค่ชนิดเดียว หากเกิดอะไรขึ้นมา เช่น โรคปะการังระบาด หรือโลกร้อนทำให้ปะการังชนิดนี้ฟอกขาว เราก็จะเสี่ยงต่อการสูญเสียปะการังไปทั้งหมด ในทางตรงข้าม ถ้าในพื้นที่มีปะการังหลากหลายสายพันธุ์ หากชนิดหนึ่งทนฟอกขาวจนตายไป อย่างน้อยก็อาจยังมีปะการังชนิดอื่นๆ ที่ทนทานกว่าเหลืออยู่
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือในทะเลแคริเบียน แถวประเทศ Bahamas กับในแถบอินโดแปซิฟิกบ้านเรา
นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ทะเลแคริเบียนสูญเสียปะการังไปแล้วถึง 96% ในขณะที่ทะเลแถบอินโดแปซิฟิก สูญเสียปะการังไปแค่ 56%
ตัวเลขที่ต่างกันในสองพื้นที่นี้มีที่มาจากอะไร ?
คำตอบคือ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’
ถ้าดูแค่ปะการังในสกุล Acropora (ปะการังเขากวาง) ที่แคริเบียนมีแค่ 3 สายพันธุ์ ในขณะที่แถบอินโดแปซิฟิก เอาแค่เฉพาะที่เกาะเต่า ก็มีมากถึง 87 สายพันธุ์
การมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ก็เหมือนกับการมีชิ้นไม้หลายชิ้นในเกมเจนก้า (เกมตึกถล่ม) ซึ่งทำให้ตึกมีความมั่นคงกว่า ยิ่งเราดึงชิ้นไม้ออกเท่าไหร่ (ลดความหลากหลายทางชีวภาพลง) ตึกหรือระบบนิเวศก็เสี่ยงต่อการถล่มมากขึ้นเท่านั้น

3. ความหลากหลายของชนิดปะการัง คือความหลากหลายของชีวิตอื่นๆ

มนุษย์แต่ละคนมีความชอบต่างกัน บางคนชอบบ้านปูนหลังใหญ่ บางคนชอบบ้านไม้หลังเล็กๆ บางคนชอบบ้านริมน้ำ บางคนชอบบ้านวิวภูเขา… สัตว์ทะเลก็เช่นกัน
สัตว์ทะเลที่อาศัยปะการังเป็นบ้านก็มีความชอบปะการังต่างชนิดกัน แต่จะเรียกว่า ‘ชอบ’ ก็คงไม่ถูกนัก เพราะมันไม่ใช่ความรู้สึก แต่มันหมายถึงความต้องการและความจำเป็นในการอยู่รอด เช่น ปลาสลิดหินตัวเล็กๆ ต้องการปะการังชนิดที่แตกกิ่งแบบซับซ้อน เพื่อให้มันหลบซ่อนตัวจากผู้ล่าได้ดี หรือทากทะเลบางชนิดต้องอยู่กับปะการังบางชนิดเท่านั้น เพราะสีสันและลวดลายทำให้มันพรางตัวได้อย่างกลมกลืน
งานวิจัยที่ Great Barrier Reef ก็ยืนยันว่า ความหลากหลายของสายพันธุ์ปะการังคือปัจจัยสำคัญต่อความหลากหลายของชนิดปลา

Substrate Survey

และสำหรับภารกิจใต้น้ำในวันนี้ ก็คือภารกิจที่เรียกว่า Substrate Survey หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการสำรวจพื้นท้องทะเลในแนวปะการังที่กำหนดไว้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่จะบอกได้ว่า ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังนี้มีมากแค่ไหน
           วิธีการก็คือ วางสายวัดยาว 95 เมตร แล้วบันทึกทุกๆ ครึ่งเมตรว่า ณ ตำแหน่งนั้นมีสิ่งใดอยู่ เช่น ปะการังแข็ง (Hard Coral), ปะการังอ่อน (Soft Coral), ฟองน้ำ (Sponge), สาหร่ายชนิดที่เป็นตัวชี้วัดปริมาณแร่ธาตุ (Nutrient Indicator Algae), ก้อนหิน (Rock), เศษซากปะการังหรือหินที่แตกหัก (Rubble), ทราย (Sand), โคลน (Silt), ขยะ (Trash), หรืออื่นๆ
           โดยถ้าเป็นปะการังแข็ง เราก็จะบันทึกไปด้วยว่า เป็นรูปแบบการเติบโตแบบไหน เช่น แบบกิ่งก้าน (Branching), แบบโต๊ะ (Tabulate), แบบก้อน (Massive), แบบกึ่งก้อน (Submassive), แบบแผ่นตั้ง (Foliose), แบบแผ่นนอน (Laminar), แบบแผ่นเคลือบ (Encrusting) หรืออื่นๆ  รวมทั้งบันทึกสุขภาพของมันว่า ปกติดี, ฟอกขาวบางส่วน, ฟอกขาวทั้งหมด, เพิ่งถูกกิน หรือตายแล้ว ตามด้วยชื่อสกุลของปะการังนั้น
           โดยทีมสำรวจก็จะมีแผ่นกระดานไว้สำหรับบันทึกข้อมูลใต้น้ำ ซึ่งมีตาราง และเราก็จะบันทึกข้อมูลเป็นตัวย่อ เช่น 
0.5 m   HC, B, H, Acropora
1.0 m SD
1.5 m RC
2.0 m HC, M , H, Diploastrea
โดยช่องบนสุด หมายถึง Hard coral, Branching, Healthy, Acropora (ปะการังแข็ง แบบกิ่งก้าน สุขภาพดี สกุล Acropora)  ส่วนช่องถัดมา SD = Sand และ RC = Rock ส่วนช่องสุดท้ายก็คือ Hard Coral, Massive, Healthy, Diploastrea
           ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ทาง New Heaven Reef Conservation Program ได้ทำการเก็บอย่างต่อเนื่องมา 10 กว่าปีแล้ว และนี่ก็คือส่วนสำคัญที่จะบอกถึงสุขภาพของแนวปะการัง และความเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับอดีต
           แล้วก็ไม่ใช่แค่ปะการังเท่านั้น ในโปรแกรมนี้ยังมีการสำรวจปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วย โดยเราเรียกภารกิจการสำรวจนี้ว่า EMP หรือ Ecological Monitoring Program  หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็ประมาณว่า โปรแกรมตรวจสุขภาพระบบนิเวศ
           ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไป

Mission 03 : ตรวจสุขภาพแนวปะการัง

“คนในสมัยนี้ ไม่รู้แล้วว่าสิ่งดีๆ ที่เราเคยมีอยู่นั้นมันเป็นอย่างไร อยู่ๆ ไปโดยยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่มันแย่ลงทุกวัน ปล่อยให้มาตรฐานฝั่งแย่ขยับลงเรื่อยๆ”
           ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เคยอธิบายไว้ถึงปัญหาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Shifting Baseline ซึ่งหมายถึง การที่มาตรฐานความคาดหวังที่คนแต่ละรุ่นมีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่น คนสมัยก่อนอาจคาดหวังต่อแม่น้ำหน้าบ้านว่าต้องมีปลาให้จับได้ ต้องใช้ดื่มได้ ส่วนคนรุ่นเรากลับหวังแค่ว่า… “มึงไม่เหม็น กูก็ดีใจแล้ว”…
ระบบนิเวศทางทะเลก็เช่นกัน
           หากไปถามชาวประมงเรื่องความคาดหวังต่อปลาที่จับได้ในแต่ละวัน คำตอบของแต่ละรุ่นก็จะน้อยลงเรื่อยๆ  
“สามปีก่อน เรือหนึ่งลำจับปลากระโทงดาบได้ 130 ตัว ปีก่อนเหลือแค่ 30 ตัว มาปีนี้เหลือแค่ 15 ตัวเท่านั้น”
“20 ปีก่อน ผมออกเรือวันเดียวก็ได้ปลาพอที่จะเลี้ยงครอบครัวทั้งสัปดาห์ แต่ตอนนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว”
นั่นคือสิ่งที่ชาวประมงทางฝั่งแอตแลนติกให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Song for the Blue Ocean ของ Carl Safina
ซึ่งเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลก
ในแนวปะการังเองก็เช่นกัน
อย่างข้อมูลที่เกาะเต่า สมัยก่อนเราเคยมีฉลามหัวบาตรชุกชุม แต่วันนี้แทบไม่เจอแล้ว และความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมก็น้อยลงอย่างมาก 
นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่า ทำไมการสำรวจและบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีจึงเป็นสิ่งสำคัญ 
เพราะหากเราไม่ทำการบันทึก เราจะไม่รู้เลยว่าในธรรมชาติตรงหน้าเรามีอะไร หรือ เคยมีอะไร
และถ้าเราไม่รู้… เราจะอนุรักษ์มันไว้ได้อย่างไร

Ecological Monitoring Program

ด้วยเหตุนี้ ทุกๆ วันจันทร์ที่ New Heaven Reef Conservation Program จึงมีกิจกรรมดำน้ำเพื่อสำรวจระบบนิเวศในแนวปะการัง ที่เรียกว่า EMP (Ecological Monitoring Program) หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการตรวจสุขภาพประจำสัปดาห์ของแนวปะการัง
โดยการสำรวจจะแบ่งเป็น 3 ทีม คือ:
  1. ทีมสำรวจปลา
  2. ทีมสำรวจสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
  3. ทีมสำรวจ Substrate (สิ่งที่อยู่บนพื้นทะเล เช่น ปะการัง ฟองน้ำ หิน เศษซากปะการัง ทราย สาหร่าย ฯลฯ)
โดยแต่ละสัปดาห์เราจะหมุนเวียนไปตามพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ เราจะสำรวจที่จุดเดิมทุกครั้ง  เพื่อที่ข้อมูลจะได้มาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงได้
วิธีการก็คือจะมีสายวัด 100 เมตร วางในที่แนวที่เราต้องการสำรวจ เรียกว่า transect line

ทีมสำรวจปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ก็จะทำการบันทึกสิ่งมีชีวิตที่เป็น ‘indicator species’ หรือ ‘ดัชนีชี้วัด’ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ในแนว 2.5 เมตร ทั้งสองข้างของ transect line ในแต่ละ section  

สิ่งที่เราบันทึกจะไม่ใช่สัตว์ทุกชนิดที่เราพบ แต่จะนับเฉพาะชนิดที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสภาพแวดล้อมได้ เช่น ทากทะเล (เพราะมันอ่อนไหวต่อคุณภาพน้ำ), หอยมือเสือยักษ์ (เพราะมีหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ คือเป็นตัวกรองน้ำ), ปลาหมึก (เป็นผู้ล่าชั้นบนๆ การมีพวกมัน แปลว่าระบบนิเวศมีความสมบูรณ์), หอย Drupella (เป็นตัวกินปะการัง ถ้ามีเยอะ อาจหมายถึงระบบนิเวศมีปัญหา), ปูเสฉวน (เป็นเทศบาล คอยกินซาก) ฯลฯ
ส่วนทีมสำรวจ Substrate จะต่างกันนิดนึงตรงที่ เราบันทึกสิ่งที่อยู่ใต้ transect line ทุกๆ 50 เซนติเมตร เช่น ปะการังแข็ง, ปะการังอ่อน, ฟองน้ำ, สาหร่าย, ก้อนหิน, เศษซากชิ้นส่วนปะการังหรือหินที่แตกหัก (Rubble), ทราย, โคลน หรืออื่นๆ  โดยถ้าเป็นปะการังแข็ง ก็จะบันทึกรูปทรงการเติบโต สุขภาพของมัน และชื่อสกุล ลงไปด้วย
ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดอย่างดีที่จะบอกว่า สุขภาพแนวปะการังยังดีอยู่แค่ไหน เช่น ถ้าในพื้นที่เต็มไปด้วยสาหร่าย ก็อาจแปลว่าแร่ธาตุในน้ำเยอะเกินไป (เช่น น้ำเสียจากแผ่นดิน) จนสาหร่ายโตดีจนแย่งพื้นที่ปะการัง หรือในพื้นที่ที่หอย Drupella ระบาดหนัก เช่น มีนับร้อยๆ ตัวต่อพื้นที่ไม่กี่สิบตารางเมตร ก็อาจบ่งบอกได้ว่า แนวปะการังนั้นกำลังมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น
คนเราต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปีฉันใด แนวปะการังก็ต้องการการตรวจสุขภาพเป็นประจำฉันนั้น

Mission 04 : ภารกิจตามหาหอยมือเสือ - เครื่องกรองน้ำแห่งแนวปะการัง

เมื่อพูดถึงหอย หลายคนคงนึกถึงเมนูอาหารสุดแซ่บกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด
แต่นั่น… ต้องไม่ใช่กับหอยมือเสือ!

Picture credit : New Heaven Reef Conservation Program

หอยมือเสือคือหอยสุดพิเศษ มันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและมีหน้าที่สำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศแนวปะการัง จุดเด่นของมันที่ใครเห็นก็ต้องจำได้ ก็คือขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มราวหนึ่งไม้บรรทัด และสีสันสวยงามของเนื้อแมนเทิลอันเป็นเอกลักษณ์
สาเหตุของสีสันอันสวยงามและขนาดอันใหญ่โตนี้ มาจากสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อว่า Zooxanthellae
ใช่แล้ว… มันคือสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดเดียวกับที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง (ที่ในตอนก่อนหน้าเราตั้งชื่อเล่นให้ว่า ‘ป้าซู’) ผู้ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง สร้างพลังงานให้ปะการัง
หอยมือเสือก็ไม่ต่างกัน ในเนื้อเยื่อของมันมีป้าซูอาศัยอยู่ ป้าซูก็จะสังเคราะห์แสงส่งต่อพลังงานให้หอยเจ้าบ้าน คิดเป็น 70-95% ของพลังงานที่หอยใช้เลยทีเดียว การมีแม่ครัวส่วนตัวเช่นนี้ ทำให้หอยมือเสือโตไวและมีขนาดใหญ่กว่าหอยทั่วไป (หอยมือเสือบางชนิดในบางพื้นที่สามารถโตได้เป็นเมตร)
ส่วนสีสันและลวดลายของเนื้อเยื่อแมนเทิลที่เราเห็น ก็คือสีของป้าซูนั่นเอง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้หอยมือเสือแต่ละตัวมีสีสันลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย และถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากๆ หอยมือเสือก็ฟอกขาวได้เช่นกัน
มาถึงสาเหตุที่ทำให้หอยมือเสือนั้นแสนสำคัญ จนได้ขึ้นแท่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็เพราะหน้าที่ของมันต่อระบบนิเวศหลักๆ 3 ประการ คือ
  1. เป็นเครื่องกรองน้ำแห่งแนวปะการัง
แม้ว่าหอยมือเสือจะมีป้าซูเป็นแม่ครัวส่วนตัวคอยสังเคราะห์แสงป้อนพลังงานให้ แต่เจ้าหอยก็ไม่ได้นอนงอมืองอเท้ารอพลังงานจากป้าซูอย่างเดียว ในยามค่ำคืนคุณหอยมือเสือจะกรองแพลงก์ตอนและสารอาหารในน้ำกิน โดยจะมีช่องเปิดที่ดูดน้ำเข้าและช่องที่ปล่อยน้ำออก ทำหน้าที่เหมือนเครื่องกรองน้ำไม่มีผิด หอยมือเสือตัวใหญ่ๆ หนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ถึง 1,000 ลิตรต่อวัน ส่วนขนาดทั่วๆ ไปที่เกาะเต่า กรองได้เฉลี่ยราว 400 ลิตรต่อวันต่อหอยหนึ่งตัว ลองคิดดูว่าถ้าหลายๆ ตัวรวมกัน จะกรองได้เยอะแค่ไหน  ประโยชน์ของการกรองน้ำนี้ก็คือทำให้น้ำใส ช่วยกำจัดแร่ธาตุส่วนเกินในแนวปะการัง (อย่าลืมว่าปะการังไม่ชอบน้ำที่แร่ธาตุเยอะ เพราะสาหร่ายจะโตดีจนแย่งพื้นที่ปะการังหมด)
  1. เป็นผู้ให้บริการที่พัก
ด้วยความที่คุณพี่หอยมือเสือมีขนาดใหญ่ และเปลือกของมันก็มีส่วนโค้งเว้ามากมาย ทำให้สัตว์เล็กๆ หลายชนิดก็มาขออาศัยใต้ชายคาของเปลือกหอยมือเสือเป็นบ้านพัก เช่น กุ้งหรือปูเล็กๆ หรือบางครั้งก็อาจเห็นไข่ของทากทะเลติดอยู่ที่นี่ แต่ที่สำคัญก็คือเป็นพื้นที่ให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เพราะตัวอ่อนปะการังไม่สามารถโตในทรายได้ มันต้องการพื้นที่แข็งและมั่นคงเพื่อลงเกาะและเติบโต การมีหอยมือเสืออยู่จึงช่วยขยายความเป็นไปได้ของการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง โดยเฉพาะตรงพื้นที่ริมขอบแนวปะการังซึ่งส่วนใหญ่เป็นทราย
  1. เป็นผู้ช่วยให้ปะการังฟื้นตัวจากการฟอกขาวได้ดีขึ้น
จากการสังเกตของนักวิจัยที่นี่ในช่วงที่ปะการังฟอกขาวเมื่อหลายปีก่อน พบว่า พื้นที่ที่มีหอยมือเสือ ปะการังจะฟื้นตัวได้ดีกว่า เนื่องจากเมื่อหอยมือเสืออึออกมา อึของมันมี Zooxanthellae อยู่ด้วย ปะการังที่ฟอกขาวจึงมีโอกาสได้รับป้าซูกลับคืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตรงนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อยืนยันในเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป
   
หลังจากที่ได้ฟังเลคเชอร์เรื่องหอยมือเสือในช่วงเช้าแล้ว ภารกิจภาคบ่ายของเราก็คือ ดำน้ำตามหาหอยมือเสือ โดยเราจะเป็นออกเป็นทีม แต่ละทีมจะตามหาหอยมือเสือที่ความลึกต่างๆ กัน เมื่อเจอแล้ว ก็จะทำการบันทึกชนิด (Species) ที่เจอ ความลึกที่มันอยู่ แล้ววัดความกว้าง ความสูง และสิ่งมันยึดเกาะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามจำนวนประชากรของพวกมันและงานวิจัยต่างๆ ในอนาคต รวมถึงเป็นตัวชี้วัดสุขภาพความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังด้วย

Mission 05 : Muck Dive - ตามหาสัตว์ขี้อาย

หากแนวปะการังเปรียบดังเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและประชากรอันหนาแน่น แนวพื้นทรายนอกเขตปะการังก็คงเปรียบได้กับชนบท ที่ต้องมองไปไกลสุดลูกหูลูกตากว่าจะเห็นคนเดินผ่านมาสักคน
คนมากมายเลือกที่จะอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีอาชีพหลากหลายให้เลือกทำ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับชอบที่จะใช้ชีวิตในชนบทที่เงียบสงบกว่า
สัตว์ทะเลก็เช่นกัน
ในขณะที่เมืองแนวปะการังเต็มไปด้วยชีวิตพลุกพล่าน เพราะมีทั้งแหล่งอาศัยและอาหารมากมายให้เลือกสรร  แต่มันก็จะมีสัตว์อินดี้อีกกลุ่มหนึ่งที่เบ้ปากให้ความวุ่นวาย แล้วหลีกลี้หนีเมืองใหญ่ไปอาศัยเงียบๆ อยู่ตามพื้นทรายนอกเขตแนวปะการัง หรือที่เรียกว่า Muck Habitat
ชีวิตที่นี่แม้จะกันดาร ไม่ค่อยมีตัวเลือกอาหารและแหล่งหลบภัยมากนัก แต่พื้นที่แบบนี้การแข่งขันก็น้อยกว่า ผู้ที่จะมาแย่งอาหารเราก็น้อยกว่า ผู้ล่าที่จะมากินเราก็น้อยกว่า สิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยจึงชอบอาศัยอยู่ที่นี่ และหลายชนิดในนั้นอาจหาไม่ได้ในแนวปะการัง

[1] การปรับตัวของสัตว์ใน Muck

หากสัตว์สักชนิดเลือกแล้วว่าจะอยู่ในเขตพื้นทรายแทนที่จะอาศัยในแนวปะการัง ความท้าทายที่มันต้องเผชิญก็คือ จะหลบผู้ล่าได้อย่างไร เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ทราย อาจมีดอกไม้ทะเลกอเล็กๆ บ้าง แต่ก็ไม่มีโครงสร้างให้แอบมากเท่าแนวปะการัง
สัตว์แต่ละชนิดจึงมีการปรับตัวที่น่าสนใจ
การใช้ชีวิตแบบพึ่งพากัน (Symbiosis) เป็นหนึ่งในทางเลือกที่สัตว์หลายชนิดใช้ เช่น คู่หูเพื่อนซี้อย่าง ‘ปลาบู่ทะเล(Goby Fish)’ และ ‘กุ้งดีดขัน (Pistol Shrimp)’ ที่เจอได้ทุกครั้งของ Muck Dive โดยเจ้ากุ้งซึ่งมีก้ามใหญ่ทรงพลังจะทำหน้าที่ขุดรูในทราย เป็นบ้านให้ทั้งสองไว้หลบภัยซ่อนตัว และยังทำหน้าที่เป็นแม่บ้านสุดขยัน กุลีกุจอโกยทรายออกมานอกรู แต่เจ้ากุ้งน้อยเกิดมาอาภัพ ดวงตาของมันเกือบจะบอด ทำให้มันไม่สามารถมองเห็นผู้ล่าได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่มันออกมานอกรู มันจะใช้หนวดข้างหนึ่งแตะที่ปลาบู่เพื่อนซี้ ซึ่งปลาบู่ก็จะทำหน้าที่เสมือนเป็นดวงตาของกุ้งดีดขัน พอศัตรูมาปุ๊บ ปลาบู่ขยับพุ่งลงรู เจ้ากุ้งก็จะรู้ตัวและหลบทัน
ส่วนอีกคู่หนึ่งที่น่ารัก แต่อาจหายากสักหน่อย ก็คือปู Porcelain Crab ที่อาศัยปากกาทะเล (Sea Pen) เป็นบ้าน โดยความเจ๋งของปากกาทะเลคือ เมื่อมีภัยมา มันสามารถหุบเข้าไปใต้ทรายได้ ซึ่งเจ้าปูน้อยก็ได้ประโยชน์ในการหลบศัตรูด้วย บางครั้งเวลามีศัตรูมา เจ้าปูก็อาจใช้ก้ามหนีบปากกาทะเลเป็นสัญญาณให้ปากกาทะเลหุบตัว ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
นอกจากการพึ่งพาอาศัยแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่สัตว์หลายชนิดใช้ก็คือการพรางตัว เช่น ปลาหิน ปลาแมงป่อง ปลาลิ้นหมา ต่างก็พรางตัวเนียนกริบกับพื้นทราย ชนิดที่ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่ามีเธอนอนอยู่ตรงนั้น
ทากทะเลบางชนิดก็พรางตัวอย่างแนบเนียนบนไฮดรอยด์  บางชนิดก็พรางตัวกับปะการังอ่อน บางชนิดก็มุดตัวซ่อนอยู่ในทราย ส่วนบางชนิดก็มั่นมาก ไม่ต้องซ่งต้องซ่อนอะไรแล้ว โชว์สีสันเว่อร์วังให้เห็นจะๆ เพื่อประกาศว่า “ฉันมีพิษนะยะ อย่าเสือกมากิน”

[2] ดำน้ำ Muck Dive ทุกครั้ง คือความตื่นเต้น

สัตว์น้ำหลายชนิดอาจพบได้ยากในแนวปะการัง แต่ใน Muck Dive คือความเป็นไปได้ เช่น ปลาหมึกวงฟ้า, ม้าน้ำ, ปากกาทะเล (Sea Pen), Tube Anemone, หอยเม่นหน้าตาแปลกๆ, ปะการังอ่อนบางชนิด รวมถึงทากทะเลอีกมากมาย
“ถึงผมจะดำน้ำที่นี่มาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเบื่อเลย เพราะทุกครั้งจะมีสิ่งใหม่ๆ รอคอยการค้นพบเสมอ” หนึ่งในทีมงานได้กล่าวไว้ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ ทากทะเลหลายชนิดที่ค้นพบที่นี่ก็เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่โลกไม่เคยรู้จัก
สิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักทุกวันนี้เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ใต้ทะเลยังเต็มไปด้วยปริศนามากมายที่รอให้เราเข้าไปค้นพบ… ขอเพียงแค่ว่า เราไม่ทำลายจนมันหายไปเสียก่อน

[3] ความสวยงามในมุมเล็กๆ

สิ่งที่ Muck Dive สอนเราคือ ความสวยงามของชีวิตใต้ทะเลมีให้เห็นอยู่แทบทุกที่ เพียงแต่เราต้องรู้จักสังเกตและมองให้เห็นมัน
ความน่าตื่นเต้นใต้น้ำ ไม่ได้มีเพียงแค่ฉลามวาฬ แมนต้า หรือเต่าทะเล หากแต่สิ่งมีชีวิตขี้อายตัวเล็กๆ ที่แอบหลบซ่อนพรางตัวตามที่ต่างๆ ก็มีเสน่ห์และมีเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้
โลกใต้น้ำก็เหมือนกับหนังสือเล่มใหญ่ที่เราสามารถเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ การดำน้ำสำรวจในแต่ละพื้นที่ก็เหมือนกับเปิดหนังสือไปแต่ละหน้า ทุกหน้ามีเรื่องราวต่างกัน ทุกวันล้วนมีเรื่องราวใหม่ๆ ให้น่าค้นหา หรือแม้แต่พื้นที่เดิมในช่วงเวลาที่แตกต่าง ก็มีเรื่องราวบอกเล่าแตกต่างกันไป
ดำน้ำไดฟ์หน้า… จะมีอะไรรอเราอยู่นะ

Mission 06 : ขยะพลาสติกและลิงตัวที่หนึ่งร้อย

“We humans are poisoning ourselves!”

เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้น ระหว่างที่พวกเรานั่งอยู่ท่ามกลางก้อนหินริมหาดที่เต็มไปด้วยขยะพร้อมถุงดำในมือ
ตรงหน้าพวกเรา คือขยะโฟมกระจายเกลื่อนกลาด ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ รวมถึงเศษซากเม็ดโฟมที่แตกกระจาย บางตำแหน่งจ้วงมือลงไป สิ่งที่ได้คือเม็ดโฟมเต็มกำมือ  
พวกเรามองภาพตรงหน้าด้วยความสิ้นหวัง… จะเก็บยังไงให้หมดเนี่ย ?!?
แม้จะท้อแท้… แต่ก็ค่อยๆ เก็บต่อไป
ถึงจะไม่หมด แต่ก็ลดปริมาณ อย่างน้อยๆ โฟมที่เราเก็บนี้ ก็คงไม่ไปติดในท้องของใคร

[1] วันนี้คือวันมหาสมุทรโลก พวกเราจึงมีกิจกรรมเก็บขยะ...

วันนี้คือวันมหาสมุทรโลก พวกเราจึงมีกิจกรรมเก็บขยะ โดยช่วงเช้าหลังจากฟังเลคเชอร์เรื่องปัญหาขยะพลาสติก เราก็มุ่งหน้าสู่อ่าวตาชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวฉลาม พร้อมด้วยถุงดำในมือ
ภาพการเก็บขยะในวันนี้ ต่างจากการเก็บขยะชายหาดในจินตนาการอยู่พอควร มันไม่ใช่การเดินถือถุงดำไปตามพื้นทรายแล้วเก็บทีละชิ้นสองชิ้น แต่พื้นที่ตรงนี้… แค่นั่งลงตรงหินสักก้อนแล้วเก็บขยะรอบตัวในรัศมี 5 ตารางเมตร ก็นั่งเก็บได้เป็นชั่วโมง!
ไม่อยากจะนึกว่ามีสถานที่แบบนี้อีกกี่แห่งริมทะเล
ไม่กล้าจินตนาการว่า ถ้าในฤดูมรสุมฝนพัดกระหน่ำ พัดพาพลาสติกและเม็ดโฟมเล็กๆ เหล่านี้ลงทะเล จะหายนะแค่ไหน
คนที่ทิ้งขยะเหล่านี้ เขาจะรู้หรือไม่หนอ… ว่าขยะที่เขาทิ้งโดยไม่คิด สุดท้ายจะวนผ่านห่วงโซ่อาหารและกลับไปปรากฏบนจานข้าวของพวกเขาเอง
ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ที่ลอยอยู่ในทะเล แสงยูวีจะทำให้มันแตกสลายกลายเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ แล้วเจ้าพลาสติกขนาดไมโครพวกนี้ก็จะล่องลอยไปในมวลน้ำปะปนกับแพลงก์ตอน พวกปลา กุ้ง หอย ที่หาอาหารด้วยการกรองแพลงก์ตอนกินก็ง่ำพลาสติกเหล่านี้เข้าไป บางส่วนอาจขับออกมาได้ แต่อีกหลายส่วนก็สะสมในเนื้อเยื่อ งานวิจัยหลายชิ้นบอกตรงกันว่ากุ้งหอยปูปลาในตลาดล้วนมีไมโครพลาสติกปะปน แม้แต่เกลือบนโต๊ะอาหารก็มี1
นักวิจัยเบลเยี่ยมชี้ว่า ผู้ที่รักอาหารทะเลอาจได้รับอนุภาคพลาสติกเข้าสู่ร่างกายถึง 11,000 ชิ้นต่อปี2
แม้กระทั่งปะการังซึ่งยามค่ำคืนจะแกว่งหนวดกินแพลงก์ตอน ก็ยังพบว่าพวกมันเผลอกินพลาสติก ที่น่าเศร้าคือเมื่อกินแล้วมันขับออกไม่ได้ ทำให้มันอดอาหารตายอย่างช้าๆ
ส่วนพลาสติกชิ้นใหญ่ก็มีเรื่องน่าสลดใจไม่แพ้กัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่าปะการังที่สัมผัสกับพลาสติกมีโอกาสป่วยเป็นโรคเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 89% เนื่องจากพื้นผิวของพลาสติกเป็นแหล่งที่อยู่ชั้นยอดของแบคทีเรีย3
นี่ยังไม่นับเต่าทะเล นกทะเล วาฬ แมวน้ำ ที่เผลอกินขยะพลาสติกเข้าไป หรือติดพันอยู่ในขยะพลาสติกจนถึงตาย

[2] เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรากำลังล่าสัตว์ในรูปแบบใหม่ – ล่าด้วยพลาสติก

เราอาจผ่านยุคที่นิยมการถือปืนเข้าป่าล่าสัตว์หรือออกเรือล่าวาฬเพื่อเอาน้ำมัน แต่ทุกวันนี้ เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรากำลังล่าสัตว์ในรูปแบบใหม่ – ล่าด้วยพลาสติก
เราไม่มีทางรู้ว่าพลาสติกที่เราทิ้งที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าอาจไปติดคอเต่าทะเลที่มหาสมุทรแอตแลนติก หรือนกทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก
เพราะสายน้ำเชื่อมถึงกัน
บางคนอาจคิดว่าใช้พลาสติก แต่ทิ้งให้ลงถังถูกที่ถูกทางก็ไม่เป็นไร… แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่… โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเมืองที่ระบบการจัดการขยะย่ำแย่อย่างบ้านเมืองเรา
เราไม่มีทางรู้เลยว่าพลาสติกที่เราทิ้งลงถัง วันหนึ่งถุงดำนั้นอาจถูกหมามาคุ้ย พลาสติกปลิวกระจายไป ฝนตกน้ำท่วมพาไหลลงท่อ ออกสู่แม่น้ำ ลงสู่ทะเล  หรือแม้กระทั่งถุงขยะนั้นเดินทางไปถึงแหล่งจัดการขยะ ก็ใช่ว่าทุกชิ้นจะได้รับการฝังกลบอย่างดี บางส่วนอาจถูกลมพัด ปลิวสู่แหล่งน้ำ ออกสู่ทะเลได้เช่นกัน
ตัวเลขทางสถิติบอกไว้ว่า 95% ของขยะทะเล มีที่มาจากแม่น้ำหลัก 10 สาย ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการขยะไม่ถูกวิธี4  !!
และประเทศไทยนับเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่สร้างขยะลงทะเลมากที่สุด !!

[3] เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง... เราเก็บขยะได้มากถึง 202 กิโลกรัม!

วันนี้ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงของการเก็บขยะบนฝั่ง และอีกไม่กี่ชั่วโมงของการดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล กับทีมงานเพียงแค่ 20 กว่าชีวิต… เราเก็บขยะได้มากถึง 202 กิโลกรัม !!
นี่ไม่ใช่ตัวเลขแห่งความภาคภูมิใจ
ตรงกันข้าม… ในใจเราเต็มไปด้วยคำถาม
“เก็บวันนี้… แล้วพรุ่งนี้จะมีอีกเท่าไหร่ที่ถูกทิ้งลงทะเล”
….เมื่อไหร่กัน… ที่คนส่วนใหญ่จะมีจิตสำนึกพอ
….เมื่อไหร่กัน… ที่ระบบจัดการขยะในเมืองไทยจะดีกว่านี้
คำถามเหล่านี้ ยากเหลือเกินที่จะตอบ
แต่สิ่งที่ตอบได้ในวันนี้แน่ๆ ก็คือเราต้องเริ่มลดการใช้ที่ตัวเรา แล้วขยายผลไปยังคนรอบข้าง ชักชวนเพื่อนรอบตัว โพสต์ลงเฟซบุ๊ก สร้างแนวร่วม

และนี่ก็คือสิ่งที่เราทำ… พกกล่อง พกช้อน พกถุง พกกระบอกน้ำ พกหลอดใช้ซ้ำ ไปจ่ายตลาด ซื้อข้าว ซื้อขนม ซื้อแกง ซื้อน้ำปั่น ซึ่งสิ่งที่พบคือมันไม่ได้ยากอะไรเลย
เรายังเชื่อว่า… ท่ามกลางความหดหู่ ยังมีความหวัง
จากกรณีวาฬนำร่อง (Pilot Whale) ที่เกยตื้นที่สงขลา ซึ่งกินพลาสติกเข้าไป 80 ชิ้น… หลังข่าวนี้ออกมา เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
เพื่อนหลายคนที่ไม่เคยสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน ก็เริ่มแชร์และโพสต์เรื่องปัญหาขยะพลาสติก บางคนก็ตั้งปณิธานว่าจะลดการใช้ อุทยานแห่งชาติก็ประกาศงดใช้โฟมและพลาสติก การปฏิเสธไม่รับถุงเริ่มเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ  หรืออย่างเช่นกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ Greenery Challenge ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชักชวนกันรับคำท้าในภารกิจลดการสร้างขยะ สมาชิกแต่ละคนก็จะมาโพสต์ภาพวิธีที่ตัวเองใช้ลดขยะในแต่ละวันกันอย่างคึกคัก พร้อมคำบอกเล่าสนุกสนาน เช่น วันนี้หิ้วกระติกไปซื้อชานมไข่มุกพร้อมหลอดใช้ซ้ำ อีกคนหิ้วกล่องไปซื้อไก่ทอดแมคโดนัลล์ อีกคนไปตลาด เลือกขนมที่ใส่ภาชนะใบตองมากิน ฯลฯ
มาถึงวันนี้ เรารู้สึกว่า… การพกกระบอกน้ำไปซื้อกาแฟ การปฏิเสธไม่รับถุง ไม่รับหลอดพลาสติก พกกล่องไปซื้อข้าว ไม่ใช่เรื่องประหลาดหรือแปลกแยกอีกต่อไปแล้ว
อย่างเช่นที่เกาะเต่า ร้านอาหารที่เปลี่ยนจากหลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง มาเป็นหลอดสแตนเลสก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ… แต่มันเกิดขึ้นได้
แต่ที่สำคัญคือ เราต้องช่วยกัน
เรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ลิงตัวที่หนึ่งร้อย’
งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นที่เกาะแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เมื่อนักวิจัยเริ่มให้มันเทศกับลิงโดยหย่อนลงในทราย ฝูงลิงชอบรสชาติมันเทศมาก แต่ปัญหาคือทรายที่ติดอยู่น่ารำคาญ  ทีนี้อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีลิงเด็กตัวหนึ่งเกิดไอเดียแจ่มปิ๊ง เอามันเทศไปล้างในลำธารก่อนกิน ไอเดียนี้ถูกส่งต่อให้แม่และเพื่อนๆ ที่สนิท แม้วิธีนี้จะได้ผลดีมาก แต่ก็ยังไม่ popular ในหมู่ฝูงลิงสักที จำนวนลิงที่เรียนรู้ที่จะล้างมันเทศเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อลิงตัวที่หนึ่งร้อย (ตัวเลขสมมุติ) เริ่มล้างมันเทศในลำธาร… หลังจากนั้น ลิงทุกตัวก็ต่างพากันเปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างมันเทศก่อนกินกันทั้งหมด
ทั้งๆ ที่ลิงตัวที่ร้อยนั้นไม่ได้มีความสำคัญอันใดเป็นพิเศษ ไม่ใช่ลิงจ่าฝูง ไม่ใช่ลิงเซเลบ แต่จุดนั้นมันคือจุดเปลี่ยนของไม้กระดก ที่เมื่อมวลอีกฝั่งเกินค่าหนึ่ง ไม้กระดกก็เปลี่ยนทิศทาง (บางบทความแย้งว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีลิงตัวที่หนึ่งร้อยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในพริบตาแบบนั้น แต่ความจริงแล้ว ลิงมันค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมช้าๆ จากรุ่นสู่รุ่น โดยลิงที่เรียนรู้นวัตกรรมใหม่มักเป็นลิงเด็กหรือวัยรุ่น ในขณะที่ลิงแก่ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไร พอวันเวลาผ่านไป ลิงแก่ตายไป ลิงรุ่นใหม่เริ่มมีลูก มันก็สอนลูกให้ล้างมันเทศ จนพฤติกรรมโดยรวมเปลี่ยนแปลง)
แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ข้อสรุปที่ทั้งสองแนวคิดมีเหมือนกันคือ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ เพียงแค่ต้องใช้เวลา
เราเชื่อว่ามนุษย์มีปัญญามากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่รู้ว่าเป็นปัญหาได้ เหมือนอย่างที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วเรื่องการงดใช้สาร CFC ในยุคสิบกว่าปีก่อน เมื่อพบว่าสารชนิดนี้ทำให้เกิดรูรั่วในชั้นโอโซน ซึ่งหลังจากการรณรงค์และผลักดันกฎหมาย ทั่วโลกก็ยุติการใช้สารนี้ และไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็รายงานว่า ชั้นโอโซนที่เคยมีรูรั่วกลับมาเป็นปกติแล้ว
หวังว่าปัญหาเรื่องขยะพลาสติกนี้… มนุษยชาติเราจะเลือกเดินอย่างถูกทางเช่นกัน
image8

Mission 07 : 6 เทคนิค ช่วยชีวิตปะการัง

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ New Heaven Reef Conservation Program ก็คือการฟื้นฟูและดูแลแนวปะการัง ซึ่งนอกจากแนวปะการังตามธรรมชาติแล้ว โครงสร้างปะการังเทียมก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของปะการัง
การฟื้นฟูแนวปะการังที่โปรแกรมเราทำนี้ มีหลากหลายวิธีและหลายโครงสร้าง เช่น 

1. โครงสร้างเหล็กเส้น

ซึ่งเราจะใช้เชือกเส้นเล็กๆ ในการมัดชิ้นส่วนปะการัง ความท้าทายของงานนี้คือการมัดปมใต้น้ำที่ทำยังไงให้ทั้งแน่น ไม่ให้เชือกพันกัน และทับเนื้อเยื่อปะการังน้อยที่สุด ในขณะที่ต้องควบคุมการลอยตัวไปพร้อมๆ กันด้วย บางคนบอกว่า นี่คือการทำสมาธิใต้น้ำอย่างหนึ่งเลย

2. โครงสร้างบล็อกคอนกรีต

โดยเราจะใช้วัสดุที่เรียกว่า Epoxy – วัสดุเหนียวๆ หนึบๆ คล้ายดินน้ำมัน เพื่อยึดชิ้นส่วนปะการังน้อยของเราเข้ากับโครงสร้างบล็อกคอนกรีต โดยเจ้า Epoxy นี้ จะมีคุณสมบัติพิเศษ คือเมื่อเวลาผ่านไปสักชั่วโมงมันจะแข็งโป๊กราวคอนกรีต ช่วยให้การยึดติดมั่นคง
ความท้าทายของงานนี้คือต้องแข่งกับเวลา เมื่อ Epoxy ถูกผสมเสร็จปั๊บ เราต้องรีบใช้งานทันที หากใช้เวลานานไป Epoxy ในมือเราจะเริ่มแข็งและแตกร่วนจนใช้ทำอะไรไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าต้องทำเร็วเกินไปจนงานชุ่ย  อีกทั้งการยึดที่ได้ผล ก็ต้องหาตำแหน่งของบล็อกที่เหมาะสมด้วย คือไม่ใช่พื้นผิวเรียบๆ แต่เป็นส่วนพื้นผิวที่มีร่องที่พอเหมาะพอดีกับชิ้นส่วนปะการัง
ความน่าสนใจคือ ที่นี่ไม่ได้มีแค่บล็อกคอนกรีตธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังมีบล็อกที่เป็นงานศิลปะใต้ทะเล เช่น ผลงาน Ocean Utopia โดยศิลปินชื่อดังอย่าง Val Goutard (ภาพขวาบน) หรือจะเป็นผลงานปั้นของทีมงานในโปรแกรม ซึ่งหล่อคอนกรีตเป็นรูปหน้าคน อย่างเช่นในภาพล่างซ้ายเป็นรูปปั้นคนจมน้ำ โดยนักดำน้ำสามารถพ่นอากาศจากท่อหายใจเข้าทางช่องเปิดด้านข้าง ฟองอากาศก็จะผุดออกมาทางปากของรูปปั้น หรืองานอีกชิ้นที่เป็นการหล่อใบหน้าของทีมงานหลายๆ คน รวมอยู่ในโครงสร้างรูปโดม ซึ่งเป็นการเลียนแบบโคโลนีปะการังที่มีใบหน้าแต่ละคนเป็น polyp
โครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพียงแค่เพื่อความสวยงามเท่านั้น เพราะพื้นผิวคอนกรีตแบบนี้คือที่ที่เหมาะสมให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะตามธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไป งานศิลปะจากมนุษย์ก็จะถูกปกคลุมด้วยศิลปะจากธรรมชาติ – ปะการัง ขึ้นปกคลุมและกลายเป็นบ้านของสัตว์น้ำต่อไป

3. ขวดเบียร์ที่หล่อในบล็อกคอนกรีต

จากขวดเหลือใช้มาหล่อเข้ากับคอนกรีต กลายเป็นที่อยู่ใหม่ให้ปะการัง โดยเฉพาะปะการังเขากวาง โดยใช้ Epoxy ช่วยในการยึดติดอีกแรง

4. Cable Tie

ใช้ Cable Tie (เข็มขัดรัดสายไฟ) ยึดปะการังกับโครงสร้างปะการังเทียม หรือไม่ก็วัสดุที่พื้นทะเล ที่มั่นคงพอให้ปะการังยึดเกาะและเติบโตได้

5. แนวปะการังเทียมไฟฟ้า!

เทคโนโลยีล่าสุดของการต่อสู้กับปัญหาภาวะความเป็นกรดในทะเลที่เพิ่มขึ้น
เรื่องนี้อาจต้องเท้าความกันสักหน่อย เริ่มตั้งแต่ปัญหาโลกร้อนที่ไม่ได้มีผลเพียงแค่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจนปะการังฟอกขาวเท่านั้น แต่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่มากขึ้น ยังละลายในน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่า pH ของน้ำทะเลลดลง
ถามว่า ทะเลเป็นกรดมากขึ้นแล้วไง?  คำตอบต้องพาดพิงถึงกระบวนการทางเคมี ซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ว่า ความเป็นกรดทำให้โมเลกุลไฮโดรเจนไอออน (H+) เพิ่มขึ้น และโมเลกุลคาร์บอเนตไอออน (CO32-) ลดลง
ประเด็นก็คือ เจ้า CO32 นี้แหละ คือวัตถุดิบที่ปะการังและหอยใช้ในการสร้างโครงสร้างหินปูน (แคลเซียมคาร์บอเนต) (CaCo3) เมื่อวัตถุดิบหายากขึ้น ทั้งหอยและปะการังก็จะประสบปัญหาในการสร้างบ้าน
ผลก็คือปะการังเปราะบางและโตยากขึ้น ในบางพื้นที่ อุตสาหกรรมเลี้ยงหอยถึงขั้นประสบปัญหาหนัก
วิธีแก้ปัญหาในระดับใหญ่ คงไม่มีทางใดนอกจากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แต่สำหรับในสเกลเล็กๆ อย่างในแนวปะการังรอบเกาะเต่านี้ สิ่งที่เทคโนโลยีพอจะช่วยเหลือปะการังได้ ก็คือนวัตกรรม Coral Aid หรือปะการังเทียมไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประยุกต์ความรู้ในวิชาเคมีเรื่องอิเล็กโทรไลต์ ที่ใช้ขั้วแคโทด(ขั้วลบ) – แอโนด(ขั้วบวก) ในการแยกโมเลกุลในสารละลาย
พูดให้ง่าย ก็คือเราจะมีโครงเหล็กรูปโดมขนาดใหญ่เป็นขั้วแคโทด – นี่คือที่ที่เราจะมัดชิ้นส่วนปะการังไว้ และข้างๆ ก็จะมีแผ่นโลหะเล็กๆ อีกชิ้นเป็นขั้วแอโนด เสร็จปั๊บก็ต่อสายไฟมาจากชายฝั่ง (ไฟที่ใช้ถือว่าน้อยมาก จนไม่ต้องกลัวเป็นอันตราย เราสามารถใช้มือจับโครงสร้างได้โดยไม่รู้สึกถึงกระแสไฟสักนิด)
ข้อดีของการทำแบบนี้ ก็คือ โมเลกุล CO32- ที่ละลายในน้ำทะเล จะมารวมตัวกันอุ่นหนาฝาคั่งที่ขั้วแคโทด  ปะการังที่เราใช้ลวดมัดไว้กับโครงสร้างก็จะลั้ลลา หาวัตถุดิบสร้างบ้านได้ง่ายดายสบายใจจัง พวกเขาก็จะเติบโตได้ดี ซึ่งตอนนี้ทางโปรแกรมก็อยู่ในระหว่างการวิจัยเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของปะการังในโครงสร้างแบบนี้ กับโครงสร้างปะการังเทียมทั่วไป
และที่น่าสนใจคือ ไม่ได้มีแค่โครงเหล็กธรรมดาเท่านั้น แต่โครงสร้างปะการังเทียมไฟฟ้าของเรายังถูกทำเป็นงานศิลปะต่างๆ เช่น โครงสร้างเหล็กรูปม้าน้ำ ปลาตกเบ็ด และล่าสุด ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ ซึ่งเพิ่งติดตั้งเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายของชีวิต

6. แหล่งอนุบาลปะการังกลางน้ำ

วิธีนี้จะใช้กับชิ้นส่วนปะการังเล็กๆ ที่อาจเล็กเกินกว่าจะใช้วิธีอื่นๆ โดยเราจะคลายเกลียวเชือก เสียบชิ้นส่วนปะการังเข้าไป แล้วหมุนเชือกกลับ เพียงเท่านี้ปะการังชิ้นน้อยก็จะติดกับเชือกที่แขวนกลางน้ำ เพื่อป้องกันตะกอนและผู้ล่าปะการังที่พื้นทราย เมื่อปะการังโตแล้ว เราก็จะตัดเชือกออก และนำไปผูกติดกับปะการังเทียมต่อไป
ทั้ง 6 วิธีที่กล่าวถึงนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เราจะ ‘ไม่’ นำปะการังที่สมบูรณ์มาหักเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อขยายพันธุ์ แต่เราจะใช้วิธีดำน้ำมองหาเศษซากปะการังที่แตกหักตามธรรมชาติ แล้วเก็บมาผูกกับโครงสร้าง เพื่อให้ชิ้นส่วนเหล่านี้มีโอกาสรอดเป็นปะการังกอใหม่แทนที่จะจมทรายหายไป ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม และไม่เป็นการทำลายกอปะการังเดิมที่สมบูรณ์อยู่แล้ว
ปะการังที่เราผูกกับโครงสร้างในวันนี้
อีกห้าปีสิบปีข้างหน้าก็จะกลายเป็นบ้านแสนสุขแห่งใหม่ให้เหล่าสัตว์ทะเลมากมาย

Mission 08 : รู้จักทากทะเล – เซเลบริตี้ใต้ผืนน้ำ

หาก ‘นก’ เป็นดาราของผืนป่า ที่มีคนมากมายหลงใหลออกทริปขึ้นเหนือล่องใต้ตามถ่ายรูป
‘ทากทะเล’ ก็คงเป็นหนึ่งในเซเลบริตี้ใต้ผืนน้ำ ที่มีนักดำน้ำไม่น้อยอุทิศตัวเป็นโอตะ ยอมจ่ายตังค์แพงๆ เพื่อได้เห็นทากทะเลสายพันธุ์หายากกับตาสักครั้ง
ดูสีสันของพวกเขาสิ… แต่งตัวได้แรดมั้ยล่ะ ^_^
แม้จะได้ชื่อว่า ‘ทาก’ แต่พวกเขาไม่ใช่ ‘ทากดูดเลือด’ บนบกที่คนรู้จักกันนะ
ในขณะที่ทากดูดเลือด อยู่ในกลุ่มหนอนปล้อง (Phylum Annelida) ซึ่งเป็นญาติกับไส้เดือนดิน ปลิงน้ำจืด เหล่าเซเลบทากทะเลของเรา อยู่ในกลุ่มหอยและปลาหมึก (Phylum Mollusca)

“นี่ๆ เจ้าทาก… เธอไม่มีเปลือก แล้วไม่กลัวถูกกินเหรอ”  ปลาน้อยตัวหนึ่งเอ่ยถามทากทะเล
“หึหึ… เธอไม่รู้อะไรซะแล้ว พวกเราน่ะ มีพิษนะจ๊ะ… สีสันจัดจ้านของพวกเราก็มีไว้เพื่อโฆษณาความเป็นพิษของเราไง  ปลาอย่างเธอจะได้ไม่เผลอมากิน” ทากน้อยผู้แก่นแก้วตอบ
“อ๋อ… มิน่าล่ะ ปลาเฒ่าปลาแก่ถึงสอนกันมาว่า อะไรที่สีสวยน่ะ อย่าไปกิน” ปลาน้อยพยักหน้าหงึกหงัก
“แต่ก็ไม่ใช่พวกเราทุกชนิดหรอกนะที่มีสีแซ่บๆ แบบนั้น บางชนิดก็เป็นพวกขี้อาย พรางตัวเก่งมาก เนียนกับสิ่งแวดล้อมชนิดที่ถ้าเธอว่ายน้ำผ่าน เธอจะไม่รู้เลยว่าเขาอยู่ตรงนั้น”  ทากน้อยอธิบาย

[1] ในโลกแห่งความหลากหลาย

เสน่ห์อย่างหนึ่งของทากทะเลคือ พวกมันมีความหลากหลายสูงมาก เท่าที่ค้นพบแล้วในวันนี้ก็กว่า 3,000 สายพันธุ์ทั่วโลก อาศัยอยู่แทบทุกส่วนของมหาสมุทร บางสายพันธุ์ก็อยู่ในแนวปะการัง บางสายพันธุ์ก็จะชอบพื้นทรายนอกแนวปะการัง บางชนิดอยู่กลางน้ำ บางชนิดอยู่ผิวน้ำ แม้กระทั่งในน้ำลึกก็มีบางสายพันธุ์อาศัยอยู่
รูปร่างและสีสันของพวกมันก็หลากหลายสุดๆ เรียกได้ว่า ถ้าใครกำลังจะหาชุดแต่งตัวไปงานปาร์ตี้แฟนซีแล้วยังไม่มีไอเดีย ทากทะเลอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ได้!
ทากทะเลบางชนิดหน้าเหมือนแกะยังกะแกะ บางชนิดก็ชูคอราวกับกำลังคอสเพลย์เป็นอัลปาก้า บางชนิดก็ดูราวกับว่าปิกาจูมาเอง (เกือบปาบอลใส่แล้ว) บางชนิดก็มีเขาชูเหมือนหูกระต่าย (นั่นคืออวัยวะที่เรียกว่า ‘ไรโนฟอร์’ ไว้รับสัมผัสทางเคมี) บางขนิดก็ราวกับว่ามีเกล็ดน้ำค้างปักอยู่บนหลัง (นั่นคือเหงือกที่ไว้หายใจ) บางชนิดก็มีสวิงอยู่ที่หัวเหมือนแผงคอสิงโต
อาหารของพวกมันแต่ละชนิดก็ล้วนแตกต่าง บางชนิดเป็นมังสวิรัติกินแต่สาหร่าย บางชนิดก็ชอบกินอะไรที่มีพิษ เช่น ฟองน้ำ ปะการัง ดอกไม้ทะเล (นั่นคือเหตุผลที่พวกมันมีพิษ) บางชนิดก็ฮาร์ดคอร์ – กินทากทะเลด้วยกันเอง
หรืออย่างเจ้า Lion’s Mane ที่มีแผงคอเป็นสวิงนั้น สามารถดักจับได้ทั้งแพลงก์ตอนมากิน ไปจนกระทั่งแมงกะพรุนเล็กๆ แถมเจ้านี่ยังสามารถสังเคราะห์กลิ่นที่เหมือนแตงโมได้ด้วย!
แต่ความเจ๋งของเหล่าทากน้อย ไม่ใช่แค่รูปทรงและสีสันเท่านั้น แต่พวกมันยังมีความสามารพิเศษอันน่ามหัศจรรย์

[2] ความสามารถอันน่าทึ่ง

หากเชิญเหล่าทากทะเลทั้งหลายมาขึ้นเวทีประกวดความสามารถ… นี่ก็คือสิ่งที่เราจะได้เห็น
หากท่านผู้ชมพร้อมแล้ว ขอเชิญพบกับเหล่าผู้ร่วมประกวด ณ บัดนี้…

หมายเลข 1 : ทากทะเลนักเต้นระบำสเปน

ทากชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม Spanish Dancer ความสามารถพิเศษของเธอคือสามารถเต้นสะบัดตัวพลิ้วไหวอยู่กลางน้ำ ไม่ต่างอะไรจากสาวกระโปรงแดงที่เต้น Flamenco ความสามารถนี้ทำให้เธอสามารถเปลี่ยนที่หากินได้กว้างไกล แทนที่จะแค่คลานกระดึ้บๆ อยู่ที่พื้นเหมือนเพื่อนทากทะเลส่วนใหญ่
เจ้าทากนักเต้นระบำนี้ สามารถโตได้ถึง 40 เซนติเมตร – ยาวกว่าหนึ่งไม้บรรทัดอีก !!
ดูคลิปนางเต้นได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=SBlB1-EabgI&t=8s

หมายเลข 2 : ทากทะเลนักพ่นหมึก

ในทะเลไม่ได้มีแต่ปลาหมึกเท่านั้นที่พ่นหมึกได้ ทากทะเลที่ชื่อ California Sea Hare ก็สามารถพ่นหมึกได้เช่นกัน แถมหมึกของนางมีสีชมพูอมม่วงสวยงาม และหมึกนี้มีสารเคมีบางอย่างที่ส่งผลยับยั้งการรับสัมผัสของผู้ล่า
เคยมีนักวิจัยทดลองปล่อยกุ้งล็อบสเตอร์ลงในตู้ที่มีเจ้าทากนี้อยู่ แน่นอน…เจ้าทากพ่นหมึกใส่ล็อบสเตอร์ ผลก็คือ ล็อบสเตอร์ยอมล่าถอย แล้วพยายามทำความสะอาดหนวดตัวเอง

 

หมายเลข 3 : ทากทะเลนักสังเคราะห์แสง

พวกเขาคือทากทะเลในกลุ่ม Sacoglossan พวกนี้ชอบกินสาหร่าย แต่พอกินเสร็จ แทนที่จะย่อยเนื้อเยื่อสาหร่ายไปทั้งหมด พวกเขาก็จะเก็บคลอโรพลาสต์ (เซลล์ที่พืชใช้สังเคราะห์แสง) ไว้ในร่างกาย ทำให้พวกเขามีเครื่องสังเคราะห์แสงประจำตัว เจ๋งไปเลย!

หมายเลข 4 : ทากทะเลผู้พิชิตแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส

หากใครที่ยังไม่คุ้นชื่อแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส หรือ Portuguese man-of-war มันคือสิ่งมีชีวิตหน้าตาคล้ายแมงกะพรุนที่มีหนวดพิษยาวเฟื้อยเป็นสิบเมตร
เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือ Portuguese man-of-war ยังมี Blue Dragon Sea slug !!
ทากน้อยสีฟ้าตัวเล็กๆ ตัวนี้ มีวิชาตัวเบา สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่ผิวน้ำทะเล และกินเจ้า Portuguese man-of-war เป็นอาหาร… แถมกินที ไม่กินเปล่า ยังขโมยเข็มพิษมาเก็บไว้ที่ครีบเป็นอาวุธประจำกาย แล้วยังเลือกสรรเอาเฉพาะส่วนที่มีพิษแรงๆ เก็บไว้ ทำให้ตัวมันมีพิษแรงกว่าไอ้เจ้าอาหารที่มันกินอีกแน่ะ

หมายเลข 5 :  เนียนขั้นเทพ

หากในวงการทากทะเลต้องการสายลับ… นี่คือเหล่าตัวเต็งที่ต้องได้รับคัดเลือกเป็นแน่แท้

[3] ฉากรักพิสดาร

ไม่ใช่แค่ความสามารถเท่านั้นที่มหัศจรรย์ แต่ฉากรักของพวกมันก็ชวนให้ร้องอู้หูเช่นกัน
ทากทะเลเป็นสัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียว แต่นั่นก็ยังไม่แปลกอะไรนัก… แต่ที่ทำให้พวกมันไม่เหมือนใครก็คือ
1) เวลามันจับคู่ผสมพันธุ์ มันจะหันหัวในทิศตรงข้ามกัน แล้วสวมบทบาทเป็นทั้งตัวผู้และตัวเมียในเวลาเดียวกัน หรือพูดอีกอย่างว่ามันเป็นทั้ง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ อสุจิในขณะเดียวกัน !
2) แค่นั้นไม่พอ ทากทะเลในกลุ่ม Sea Hare บางครั้งจะจับกลุ่มผสมพันธุ์กันเป็นแถวยาว หรือที่เรียกว่า Mating Chain โดยแต่ละตัวทำหน้าที่เป็น ‘ตัวผู้’ ให้ตัวข้างหน้า และเป็น ‘ตัวเมีย’ ให้ตัวข้างหลัง… สามัคคีชุมนุมมั้ยล่ะ ^^
3) ส่วนทากทะเลในสกุล Siphopteron จะมีอวัยวะเพศผู้เป็นแฉก แฉกหนึ่งไว้ส่งอสุจิตามธรรมดา อีกแฉกจะมีปลายแหลมเหมือนเข็ม เอาไว้แทงเข้าหัวของกันและกันระหว่างผสมพันธุ์… เหตุผลยังไม่ประจักษ์ชัดนัก แต่บางทฤษฎีบอกว่า เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายวางไข่เยอะๆ…. ซาดิสต์จุง
4) ส่วนทากทะเลสายพันธุ์ Chromodoris reticulate จะหักอวัยวะเพศทิ้งหลังผสมพันธุ์! และสามารถงอกขึ้นใหม่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง! นักวิจัยสันนิษฐานว่า ประโยชน์ในการทำเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะการหักส่วนนั้นทิ้งในครั้งแรก จะช่วยกวาดอสุจิของตัวผู้ก่อนหน้าออกไป ทำให้มั่นใจได้ว่าการผสมครั้งถัดไป ไข่จะได้รับอสุจิของมันร้อยเปอร์เซ็นต์… อะเฮื้อ !!

[4] อื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากความเจ๋งทั้งหมดที่ว่ามาแล้ว ทากทะเลยังมีความสำคัญต่อมนุษย์ด้วย อย่างแรกคือสารเคมีที่มันผลิต ล้วนเป็นความหวังในทางการแพทย์อย่างมาก มีงานวิจัยหลายชิ้นกำลังศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติการต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียของสารเคมีจากทากทะเล งานอีกชิ้นที่ได้รางวัลโนเบลทางการแพทย์ในปี 2000 คือการศึกษาที่พบว่า ทากทะเลในสกุล Aplysia มีความจำ!
สิ่งที่นักวิจัยคนนั้นค้นพบ ก็คือทากทะเลมีพฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข เหมือนหมาที่น้ำลายไหลเมื่อสั่นกระดิ่ง โดยเขาทดลองโดยเปิดไฟแล้วกระทุ้งตัวเจ้าทากนี้ จะทำให้มันเกิดการตอบสนองแบบป้องกันตัว และเมื่อเขาทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็พบว่า เพียงแค่เปิดไฟ ยังไม่ต้องกระทุ้งมัน มันก็ตอบสนองแล้ว… นั่นแปลว่า ทากทะเลมีความจำ… ซึ่งการค้นพบนี้มีความสำคัญมากในวงการประสาทวิทยา เพราะการศึกษาระบบประสาทในสัตว์ที่ยังมีวิวัฒนาการต่ำนั้นง่ายกว่าศึกษาสมองมนุษย์นัก และการเข้าใจกระบวนการของระบบประสาทเหล่านี้ อาจเป็นความหวังในการรักษาโรคหลายๆ อย่างในอนาคต
นอกจากนั้น การมีทากทะเลอยู่ในทะเล ยังให้คุณค่าในเชิงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว… ยิ่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวก็ยิ่งอยากมาเพิ่มขึ้นเท่านั้น แล้วยิ่งถ้าเจอทากทะเลสายพันธุ์ที่เป็นดารา… เชื่อได้เลยว่า นักดำน้ำสาวกทากทะเลทั้งหลายย่อมยินดีที่จะบินข้ามฟ้าเพื่อมาดำน้ำดู
ตราบเท่าที่เรายังรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้ การท่องเที่ยวก็อยู่ได้เช่นกัน ซึ่งนั่นหมายถึงอาชีพและปากท้องของคนมากมายในพื้นที่
แต่เหนือสิ่งอื่นใด การได้เห็นความหลากหลายและความสวยงามของชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ร่วมกัน คือสิ่งที่ทำให้โลกนี้มีสีสัน และทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นสถานที่พิเศษที่ไม่เหมือนใครในจักรวาล

Mission 09 : 10 อาชีพสิ่งมีชีวิตแนวปะการัง

ตั้งแต่เล็กจนโต เราเป็นคนชอบเที่ยวทะเล
            สมัยก่อน ทะเลในความหมายของเรามีเพียงแค่หาดทราย น้ำทะเล คลื่นที่ซัดสาดเข้าสู่ฝั่ง และวิวพระอาทิตย์ตกสวยๆ
            แต่มาในวันนี้ เมื่อได้มาดำน้ำและเรียนรู้เรื่องของระบบนิเวศใต้ทะเล ผืนน้ำสีฟ้าที่มองเห็นตรงหน้าก็มีความหมายไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ลึกลงไปภายใต้เกลียวคลื่นที่เห็นอยู่ลิบๆ … ที่นั่น มีเมืองแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ – เมืองแห่งแนวปะการัง
แม้แนวปะการังจะกินพื้นที่ไม่ถึง 0.1% ของพื้นมหาสมุทรทั้งหมด แต่ที่นี่รองรับชีวิตกว่า 25% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลทั้งหมดที่เรารู้จัก ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ก็ไม่ได้แค่ว่ายไปว่ายมาอยู่เฉยๆ แต่ทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ล้วนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศทะเลสมดุลอยู่ได้ – หรือพูดให้ง่ายว่า สัตว์ทะเลทุกชนิด ‘มีอาชีพ’
สังคมมนุษย์ต้องการอาชีพที่หลากหลายฉันใด สังคมสัตว์ทะเลก็ต้องการอาชีพที่หลากหลายฉันนั้น
เอาแค่อาชีพในแนวปะการังก่อน มาดูกันเลยว่าจะมีอาชีพอะไรกันบ้าง

1. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ในโลกของสัตว์ทะเล ปัญหาระดับชาติอย่างหนึ่งคือเหล่าปรสิตที่ชอบมาเกาะดูดเลือดแย่งสารอาหาร จะเอื้อมมือไปแกะก็ไม่ได้ – ก็มีแต่ครีบ ไม่มีมือนี่นา !
แต่ปัญหานี้ก็ต้องหมดไป เมื่อมี ‘ปลาพยาบาล’ และ ‘กุ้งพยาบาล’
ในแนวปะการัง มักจะมีกองหินที่เหล่าสัตว์ทะเลรู้กันว่าเป็น ‘สถานีพยาบาล’ ที่เหล่าปลาพยาบาลและกุ้งพยาบาลชอบอยู่ ยามเมื่อคันเนื้อคันตัว พวกมันก็จะมารอต่อคิว นอนนิ่งๆ ให้เหล่าพยาบาลทำหน้าที่ตอดปรสิตให้
เหล่าพยาบาลได้อาหาร เหล่าลูกค้าก็สบายเนื้อสบายตัว
ความสำคัญของอาชีพนี้ ไม่ใช่เล่นๆ ที่ออสเตรเลียเคยมีงานวิจัยที่ทดลองนำปลาพยาบาลออกไปจากพื้นที่ แล้วติดตามผลเป็นระยะเวลา 8 ปีครึ่ง ผลปรากฏว่า พื้นที่ที่ปลาพยาบาลหายไป ลูกค้าหลักอย่างปลาสลิดหินมีขนาดเล็กกว่า สายพันธุ์ปลาก็มีความหลากหลายน้อยกว่า หรืองานวิจัยอีกชิ้นก็พบว่า ปลาที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงปลาพยาบาล มีปรสิตสูงกว่า 4 เท่า ภายใน 12 ชั่วโมง
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่บอกว่า ปลาที่ได้รับการพยาบาล มีระดับฮอร์โมนความเครียดที่ลดลงด้วย
เรียกได้ว่า การให้ปลาพยาบาลตอด เป็นความฟินของเหล่าสัตว์ทะเล

2. ผู้ให้บริการที่พัก

ลองนึกถึงว่า ถ้าเราเป็นปลาเล็กๆ ในแนวปะการัง รอบตัวเต็มไปด้วยผู้ล่ามากมายที่จ้องคอยจะกินเรา ชีวิตแบบนี้ ต้องระวังตัวตลอดเวลา หากมัวแต่ว่ายน้ำเล่นไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็คงถูกหม่ำไม่เหลือซากเป็นแน่แท้
ด้วยเหตุนี้ ที่พัก-ที่หลบภัย จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลาเล็กๆ เหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้ และผู้ให้บริการที่พักรายใหญ่ของเมืองแห่งนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากปะการัง
โครงสร้างที่แข็งและซับซ้อนของปะการัง เป็นบ้านชั้นดีที่ให้เหล่าสัตว์ทะเลเล็กๆ ไว้แอบซ่อนหลบภัย หลายชนิดก็อาศัยวางไข่ หลายชนิดก็อาศัยเป็นห้องครัวหาอาหาร บ้างก็กินสาหร่ายบนปะการัง บ้างก็กินตัวปะการัง บ้างก็มาหาเหยื่อแถวปะการัง เรียกได้ว่า ปะการังคือหัวใจสำคัญของเมืองแห่งนี้เลยทีเดียว

3. นักตัดหญ้า

เวลาเราทำสวนปลูกผัก สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือคอยควบคุมวัชพืชไม่ให้มาขึ้นใกล้ๆ – ใต้ทะเลก็เช่นกัน
ในโลกของปะการัง คู่แข่งตัวสำคัญของพวกมันคือสาหร่าย ทั้งคู่ต่างต้องการแสงและพื้นที่ในการเติบโต ดังนั้น การที่ปะการังจะเติบโตได้ จำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสาหร่ายไม่ให้เยอะเกินไป ผู้ที่กินสาหร่ายเหล่านี้ก็เปรียบได้กับ ‘นักตัดหญ้า’ แห่งสวนปะการัง ผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ปะการังไม่ถูกสาหร่ายแย่งชิงพื้นที่
บรรดานักตัดหญ้าเหล่านี้ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็เช่น ปลานกแก้ว, เต่าทะเล, เม่นทะเลหนามยาว และปลาอีกหลายชนิด ดังนั้น การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จึงเท่ากับการช่วยให้เมืองแนวปะการังอุดมสมบูรณ์

4. ขนส่งมวลชน

ในโลกใต้ทะเล สัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็กๆ ว่ายน้ำไม่เก่ง ไม่มีครีบอย่างปลา การที่พวกมันจะเดินทางไปไหนต่อไหน เพื่อหาที่อยู่ใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการหาอาหาร ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่วิวัฒนาการก็ได้มีทางออกให้พวกมัน… “พี่ๆ พี่แมงกะพรุนครับ ผมขอโดยสารติดไปด้วยตัวนึงนะ”
สัตว์ที่ชอบอาศัยขอโบกรถ..เอ้ย… โบกแมงกะพรุน เพื่อการเดินทางมีหลายชนิดมาก ตั้งแต่ดาวเปราะ ลูกปู ลูกกุ้ง เพรียงคอห่าน ตัวอ่อนดอกไม้ทะเล ไปจนถึงตัวอ่อนล็อบสเตอร์ ซึ่งการโดยสารนี้ นอกจากจะฟรีตลอดเส้นทางโดยไม่เปลืองแรงแล้ว บางทียังได้กินเศษอาหารเหลือๆ ที่แมงกะพรุนกินไม่หมดด้วย แถมปลอดภัยจากผู้ล่าอีกต่างหาก
หรือบางปลาชนิด เช่น เหาฉลาม ก็จะมีอวัยวะพิเศษสำหรับเกาะติด ไว้เกาะโดยสารไปกับสัตว์ใหญ่ๆ อย่างฉลาม วาฬ เต่าทะเล กระเบนราหู เดินทางไปไหนต่อไหนสบายใจเฉิบ
เป็นการพึ่งพากันที่น่ารักจริงๆ

5. แม่ครัว

ปะการังเป็นสัตว์ที่หากินเองไม่เก่งนัก พลังงานราว 80-95% ที่มันใช้ได้มาจากแม่ครัวประจำตัว ซึ่งคือสาหร่ายเซลล์เดียวชื่อ Zooxanthellae ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของมัน แม่ครัวนี้จะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารให้ปะการัง
เมื่อไรก็ตามที่ปะการังฟอกขาว ก็คือปะการังสูญเสียแม่ครัวซูซานฯ นี้ออกจากเนื้อเยื่อ ซึ่งถ้ามันอยู่ในสภาวะนี้นานเกินไป มันก็จะขาดอาหารตาย
นอกจากปะการังแล้ว หอยมือเสือก็อาศัยป้าซูซานเป็นแหล่งพลังงานหลักเช่นกัน

6. เครื่องกรองน้ำ

ปะการังต้องการน้ำใสๆ เพื่อให้ป้าซูซานสังเคราะห์แสงได้ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่นี้ก็ได้แก่ บรรดานักกรองน้ำแห่งท้องทะเลทั้งหลาย บางชนิดก็ว่ายอยู่กลางน้ำ เช่น ฉลามวาฬ กระเบนราหู บางชนิดก็อยู่ที่พื้นทะเล เช่น หอยมือเสือ หอยต่างๆ และสัตว์กอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งมีชีวิตพวกนี้หากินด้วยการกรองแพลงก์ตอนและสารอินทรีย์ในน้ำ มีบทบาทสำคัญในการทำให้น้ำใส ควบคุมไม่ให้แพลงก์ตอนมากเกินไป
อย่างฉลามวาฬกรองน้ำได้เฉลี่ย 5,680 ลิตร ต่อชั่วโมง หรือหอยมือเสือตัวใหญ่ๆ ก็อาจกรองได้ถึง 1,000 ลิตรต่อวัน

7. เครื่องดูดฝุ่น

หากความใสของน้ำคือผลงานของเหล่านักกรอง ความสะอาดของผืนทรายก็ต้องยกความดีให้ ‘ปลิงทะเล’
ปลิงทะเลกินอาหารโดยกลืนทรายลงกระเพาะ ดูดซึมสารอาหาร เศษซากอินทรีย์ รวมถึงแบคทีเรียเข้าร่างกาย แล้วถ่ายมูลที่เป็นทรายกลับออกมา ด้วยเหตุนี้มันจึงช่วยทำให้พื้นทะเลสะอาด เหมือนแม่บ้านคนขยันที่คอยดูดฝุ่นพรมอยู่ทุกวัน โดยปลิงทะเลหนึ่งตัวสามารถกรองทรายได้ถึง 2-17 กิโลกรัมต่อปี
นอกจากนั้น อึของปลิงทะเลยังช่วยเพิ่มความเป็นด่างให้น้ำทะเล ลดผลกระทบจากปัญหาความเป็นกรดของทะเลจากภาวะโลกร้อน นอกจากนั้น มันยังทำหน้าที่เหมือนไส้เดือนบนบก นั่นคือพลิกกลับตะกอนทำให้ตะกอนมีความพรุนสูง ออกซิเจนซึมผ่านได้ดี
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ประเทศฟิจิ ซึ่งเปรียบเทียบ 2 พื้นที่ที่มีปลิงทะเลหนาแน่นกับไม่มีปลิงทะเล พบว่า พื้นที่ที่มีปลิงอยู่มีระดับออกซิเจนในตะกอนเยอะกว่า แถมออกซิเจนก็ซึมลงไปได้ลึกกว่าอย่างชัดเจนด้วย

8. เทศบาล

จะเกิดอะไรขึ้น หากในเมืองของเราไม่มีเทศบาลคอยกำจัดขยะ ?
จะเกิดอะไรขึ้น หากในทะเลซึ่งมีซากพืชซากสัตว์ตายทุกวัน แล้วไม่มีใครคอยกำจัด?
แน่นอน ซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นก็จะเน่าเสีย ส่งผลให้คุณภาพน้ำต่ำลง และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สัตว์กลุ่มนี้มีความสำคัญ – เหล่าเทศบาลนักกินซาก เช่น ปูเสฉวน ที่นอกจากจะทำให้ผืนทะเลสะอาดแล้ว ยังช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุให้กลับคืนสู่ระบบด้วย

9. ผู้พิทักษ์ปะการัง

เรารู้กันแล้วว่าปะการังสำคัญขนาดไหน แต่ปะการังก็มีผู้ล่าที่ชอบมาแทะปะการังกินเป็นอาหาร เช่น ดาวมงกุฎหนาม หรือหอย Drupella ซึ่งเจ้าสองชนิดนี้มีผู้ล่าตามธรรมชาติน้อยมากเมื่อมันโตเต็มวัย
ดังนั้น การจะควบคุมประชากรนักแทะปะการังไม่ให้มากเกินไป ต้องทำตั้งแต่มันยังเป็นเบบี๋แพลงก์ตอน และผู้ที่รับหน้าที่สำคัญนี้ ก็ได้แก่ เหล่าปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารทั้งหลาย เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ฯลฯ
หากปลาพวกนี้หายไป (หรือคนให้ขนมปังจนปลาพวกนี้ไม่ยอมกินอาหารตามธรรมชาติ) ก็จะทำให้แพลงก์ตอนสัตว์ รวมทั้งตัวอ่อนนักแทะปะการังพวกนี้เพิ่มมากขึ้นจนอาจเป็นปัญหาได้

10. คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชีวิตแนวปะการัง)

ทุกชีวิตในระบบนิเวศล้วนมีหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหารย่อมมีบทบาทมากกว่าใครเพื่อน
ฉลามในทะเลก็เปรียบดั่งเสือในผืนป่า ที่เป็น Keystone species ซึ่งทำหน้าที่สำคัญที่ควบคุมให้ทุกชีวิตอยู่ในความสมดุล ถ้าฉลามหายไป ผู้ล่าขนาดกลางก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น จนไปกินกุ้งหอยปูปลาเล็กๆ จนเกลี้ยง ความเดือดร้อนก็จะมาถึงชาวประมงและมนุษย์ในที่สุด เพราะกุ้งหอยปูปลาเล็กๆ ที่เรากินเหล่านี้ ก็คือกลุ่มเดียวกับที่ผู้ล่าขนาดกลางกิน
หรืออีกผลกระทบหนึ่ง ซึ่งมาจากงานวิจัยในหมู่เกาะแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย นักวิจัยเปรียบเทียบสองพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ที่ฉลามถูกล่า กับพื้นที่ที่ฉลามยังอยู่ ผลปรากฏชัดเจนว่าพื้นที่ที่ฉลามถูกล่า ปลาผู้ล่าขนาดกลางจะมีจำนวนมากกว่า ซึ่งไอ้ปลาเหล่านี้มันจะไปกินปลากินพืช เช่น ปลานกแก้ว จนจำนวนปลานกแก้วลดลงอย่างฮวบฮาบ ผลต่อเนื่องเมื่อปลานกแก้วหายไปก็คือ แนวปะการังพัง เพราะถูกปกคลุมด้วยสาหร่าย
จะเห็นว่า ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน หากสิ่งหนึ่งหายไป ก็ย่อมกระทบกับสิ่งอื่นๆ เป็นลูกโซ่ไปด้วย
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ทุกชีวิตใต้ท้องทะเลจึงมีความสำคัญ

Mission 10 : ภารกิจตามเก็บผู้ล่าปะการัง!

ตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดล้วนมีผู้ล่า แม้กระทั่งสัตว์ที่มีพิษอย่างแมงกะพรุน ทากทะเล ดอกไม้ทะเล ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่วิวัฒนาการจนกระทั่งกินพวกมันได้ ปะการังก็เช่นกัน
แม้ว่าปะการังจะมีเข็มพิษ แต่สัตว์หลายชนิดก็ยังสามารถกินปะการัง บางชนิดอาจไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมากนัก เช่น ปลาผีเสื้อ ที่ใช้วิธีตอด polyp ของปะการังทีละนิดๆ หรือทากทะเลบางชนิดก็กินปะการังเฉพาะชนิด แต่เนื่องจากเจ้าพวกนี้มันตัวเล็ก ก็เลยไม่สร้างปัญหาอะไรมาก อยู่ด้วยกันได้ หรืออย่างปลาดาว Cushion Star (ปลาดาวที่รูปร่างเหมือนหมอนปักเข็ม) ก็กินปะการังเช่นกัน แต่มันก็กินอย่างอื่นด้วย จึงไม่เป็นปัญหาอะไรมาก
อย่างไรก็ตาม ในแนวปะการังรอบเกาะเต่า ยังมีสัตว์ทะเลอยู่ 2 ชนิด ที่สร้างปัญหามาก นั่นก็คือดาวมงกุฎหนาม (Crown of Thorns Starfish) และหอย Drupella โดยเจ้าพวกนี้กินปะการังเป็นหลัก แถมกินทีก็สวาปาม กร๊วมๆๆ จนปะการังตายเป็นแถบ
ผู้ล่าปะการังพวกนี้ หากมีปริมาณไม่มาก ก็ถือว่าเป็นตัวช่วยให้แนวปะการังมีสุขภาพดี เพราะการกินปะการังของมัน ก็ช่วยเปิดทางให้ตัวอ่อนปะการังใหม่ๆ มีพื้นที่ลงเกาะ เพิ่มความหลากหลายให้สายพันธุ์ปะการัง หรืออย่างเจ้าดาวมงกุฎหนาม ซึ่งสามารถรับสัมผัสทางเคมีของปะการังที่อยู่ในภาวะเครียดได้ ก็จะช่วยกำจัดปะการังที่อ่อนแอ มียีนด้อยออกไป เหมือนเสือเจ้าป่าที่กำจัดกวางที่อ่อนแอ
ในทางตรงข้าม หากเจ้าพวกผู้ล่านี้มีจำนวนมากเกินไป (ภาวะ Outbreak) มันก็จะกลายเป็นปัญหา ในบางพื้นที่เราจะเห็นปะการังตายเป็นแถบจากการถูกผู้ล่าพวกนี้กิน
สาเหตุที่ผู้ล่าเหล่านี้เยอะเกิน ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน… มนุษย์เรานี่แหละ ที่เป็นตัวทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล เช่น การจับปลาเกินขนาด ทำให้ปลาผู้ทำหน้าที่กินแพลงก์ตอนสัตว์หายไป ตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามและหอย Drupella ก็รอดมากขึ้น ซึ่งไอ้เจ้าสองชนิดนี้เมื่อมันโตเต็มวัยแล้ว มีผู้ล่าตามธรรมชาติน้อยมาก หรือภาวะโลกร้อนและภาวะคุกคามต่างๆ ทำให้ปะการังอ่อนแอ ผู้ล่าก็จัดการมันได้ง่ายขึ้น รวมทั้งแร่ธาตุส่วนเกินในแถบชายฝั่ง ที่มาจากน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ ก็ทำให้แพลงก์ตอนพืชเติบโตดีขึ้น แพลงก์ตอนสัตว์ก็มีอาหารเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ตัวอ่อนของเจ้าพวกตัวกินปะการังนี้มีอัตรารอดเพิ่มขึ้น
เมื่อปะการังซึ่งทุกวันนี้มีภัยคุกคามมากอยู่แล้ว ทั้งจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูง ทะเลกรด แร่ธาตุจากชายฝั่งเยอะเกิน ครีมกันแดดจากนักท่องเที่ยว ยังต้องมาเจอผู้ล่าระบาดอีก… ความอยู่รอดของแนวปะการังของเราจึงอยู่บนเส้นด้าย
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยปะการัง
การควบคุมปริมาณผู้ล่าให้อยู่ในภาวะสมดุล จึงเป็นสิ่งที่โปรแกรมของเราพอจะช่วยทำได้ นอกเหนือจากการทำปะการังเทียม
ภารกิจจัดการผู้ล่าปะการัง คือ หอย Drupella และดาวมงกุฎหนาม จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจของโปรแกรมนี้ โดยเราจะเลือกพื้นที่ที่ผู้ล่าพวกนี้ระบาด แล้วจัดการเก็บผู้ล่าเหล่านั้นซะ!
สำหรับหอย Drupella เราจะพิจารณาว่า หากมีจำนวนประชากรพวกมันเฉลี่ยมากกว่า 1.5 ตัวต่อตารางเมตร (มากกว่า 150 ตัว ต่อ 100 ตารางเมตร) เราจะถือว่าอยู่ในภาวะระบาด ปะการังตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือแล้ว
การเก็บพวกมันก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มีแค่ถุงตาข่าย 1 ใบ กับมือเปล่าๆ ของเรา เราก็จะดำน้ำแล้วใช้มือคีบพวกมันใส่ถุง ความสนุกและท้าทายของงานนี้ก็คือ มันกินปะการังเขากวางเป็นหลัก ทำให้ที่อยู่ของมันคือตามกิ่งก้านของปะการังเขากวาง ซึ่งการจะเข้าถึงตัวมัน ก็ต้องใช้สองนิ้วค่อยๆ แหย่เข้าไปตามช่องว่างระหว่างกิ่งก้าน แล้วค่อยๆ คีบมันออกมา… สนุกราวกับเล่นเกมจับโปเกม่อน!

ส่วนดาวมงกุฎหนาม เราจะเลือกพื้นที่ที่ปะการังถูกกินมากกว่า 10% ซึ่งเราจะรู้ได้จากร่องรอยปะการังตายที่มันทิ้งเอาไว้ การเก็บเจ้านี่จะมีความยากในรูปแบบที่ต่างกันไป ด้วยความที่เจ้าดาวชนิดนี้กินปะการังที่หลากหลาย ทำให้เราต้องแบ่งทีม แล้วว่ายน้ำตามหา… อารมณ์เหมือนหาโปเกม่อนนั่นแหละ พอเจอปั๊บ ก็จะเคาะแท็งก์ส่งสัญญาณให้เพื่อนร่วมทีม เป๊งๆๆ… แล้วคนที่ถือสายวัดก็จะมาทำการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเจ้าดาวนี้ คนจดบันทึกก็จะบันทึกตัวเลขนี้ พร้อมทั้งความลึก และชนิดของปะการังที่เจ้าดาวนี้กำลังกินอยู่ขณะนั้น (หรือก้อนหิน – ในกรณีที่มันอยู่บนหิน) จากนั้น คนที่ถือไม้คีบก็จะทำการคีบเจ้าดาวยักษ์นี้ใส่กระสอบ ซึ่งก็จะมีอีกคนที่ทำหน้าที่ว่ายน้ำถือกระสอบนี้ตลอดทาง
สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดของภารกิจนี้ คืออย่าให้ถูกหนามมันทิ่ม! เพราะหนามของเจ้าดาวนี้มีพิษร้าย หากถูกทิ่ม อาจปวดนานเป็นเดือน หรือหลายเดือน!

 

และทุกครั้งที่เราปฏิบัติภารกิจนี้ เราก็จะบันทึกข้อมูลทุกครั้งว่าเราเก็บได้กี่ตัว จากที่ไหน เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับงานวิจัยในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่า สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แม้จะเห็นเจ้าผู้ล่าพวกนี้ระหว่างดำน้ำ ก็ไม่ควรไปเก็บมันขึ้นมา เพราะในบางพื้นที่จะถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเราเองด้วย อีกทั้งการเก็บสิ่งมีชีวิตจากแนวปะการังก็ต้องทำอย่างรอบคอบและมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ ซึ่งทางโปรแกรมเราก็ได้รับการอนุญาตจากทางการแล้วว่าให้ทำเช่นนี้ได้
หากอยากเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจตามล่าโปเกม่อนแห่งแนวปะการัง ก็สามารถสมัครมาเป็นนักเรียนหรือเด็กฝึกงานของโปรแกรมนี้ได้นะดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://newheavenreefconservation.org